เจาะลึกผงฟูและเบคกิ้งโซดา


เจาะลึกผงฟูและเบคกิ้งโซดา

 
สำหรับคนทำขนมอบคงคุ้นเคยกับเจ้าผงฟูและเบคกิ้งโซดาเป็นอย่างดีเพราะมีปรากฏอยู่ในส่วนผสมของขนมอบหลายตัวและใช้ปริมาณน้อยๆ จนบางคนอาจจะแอบรู้สึกว่า…ไม่ใส่จะได้ไหมเนี่ย 🙂 บางสูตรใช้แค่ผงฟู บางสูตรใช้แค่เบคกิ้งโซดา แต่บางสูตรใช้ทั้งสองตัวเลย เคยสงสัยไหมคะว่าทั้งสองตัวนี้ใส่เพื่ออะไร มันทำงานยังไง และใช้แทนกันได้ไหม ๆม่ใส่เลยได้หรือเปล่า วันนี้หนึ่งจะพามารู้จักกับสองตัวนี้แบบเจาะลึก ตอบทุกคำถามเลยว่า

ผงฟู แท้จริงมันคืออะไร
ทำให้ขนมฟูได้อย่างไร
มันเป็นตัวการันตีว่าใส่ในสูตรแล้วขนมจะฟู?
ผงฟูทำให้ขนมนุ่มไหม
ต้องใส่ปริมาณเท่าไหร่ ยิ่งใส่เยอะยิ่งดี?
ผงฟูซิงเกิ้ลและดับเบิ้ลแอคชันคืออะไร
วิธีการใช้ผงฟูที่ถูกต้องทำอย่างไร
ผงฟูมีวันหมดอายุ ? ทดสอบอย่างไรว่าผงฟูยังใช้ได้
เค้กไม่ใส่ผงฟูจะยังนุ่ม ฟูไหม
ผงฟูมีอันตรายต่อสุขภาพไหม
เบคกิ้งโซดา (baking soda) คืออะไร ทำงานอย่างไร
เบคกิ้งโซดาใช้แทนผงฟูได้ไหม
ทำไมขนมอบบางสูตรมีทั้งผงฟูและเบคกิ้งโซดา
ไม่ใส่เลยได้ไหมทั้งผงฟูและเบคกิ้งโซดา
มีอะไรอย่างอื่นอีกที่ทำให้ขนมอบฟู นุ่ม

 
ผงฟูคืออะไร ทำให้ขนมฟูได้อย่างไร
 
ผงฟูเป็นสารสังเคราะห์ ตัวมันผงสีขาวละเอียด ไม่มีกลิ่น รสเค็มนิดๆ ส่วนผสมหลักของมันคือ

– สารที่เป็นกรดอ่อน มีได้หลายตัว เช่น sodium aluminum sulfate, monocalcium phosphate หรือที่คุ้นหูคุ้นตากันหน่อยคือครีมออฟทาร์ทาร์
– สารที่เป็นเบสเบสอ่อน เกือบร้อย% คือเบคกิ้งโซดา หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต..คุ้นอีกแล้วใช่ไหมคะ
– แป้ง (มักเป็นแป้งข้าวโพด)จำนวนหนึ่ง

ในผงฟูจะมีอัตราส่วนของ กรด:เบสเกือบ 1:1 คืออาจจะมีกรดมากกกว่านิดหน่อย และมีแป้งผสมอยู่ หน้าที่ของมันในขนมอบคือ ช่วยเพิ่มปริมาตร และทำให้ขนมฟูขึ้น

มันทำได้ยังไง???? ง่ายๆเลยคือ จากปฏิกริยา กรด-ด่าง (acid-base reaction) ขอพาย้อนกลับไปห้องเรียนวิทยาศาสตร์สมัยยังเป็นเด็กนิดนึงนะคะ ^_^
กรด + เบส + น้ำ ——->แก้สคาร์บอนไดออกไซด์ + ตั่งๆ ขึ่นกับว่าเป็นสารเคมีตัวไหนมมาทำปฏิกริยากัน
แต่ตัวที่สำคัญคือ แก้สคาร์บอนในออกไซด์ นี่แหละ เรียกง่ายๆว่าฟองอากาศ ลองนึกภาพฟองอากาศมากมายที่ซ่อนตัวอยู่ใน cake batter ก่อนอบ บางทีเราดูด้วยตาเปล่าอาจจะมองไม่เห็นชัดๆ แต่พอเอาไปอบ ฟองอากาสพวกนี้จะพองขยายตัวขึ้นอีกเพราะได้รับความร้อน ทำให้ขนมฟูขึ้น ก่อนจะแตกตัวไป เหลือแค่เนืื้อเค้กที่ฟู สูงขึ้น ไม่เหลือแก้สให้กินนะคะ เดี๋ยวจะมีคนสงสัยว่าเรากินแก้สคาร์บอนไดออกไซด์อีก อิอิ
 

 
สังเกตนะคะ ว่ามันต้องมีน้ำก่อนด้วย กรดกับด่างถึงจะทำปฏิกริยากันได้ ดังนั้นในผงฟูจึงมีแป้งผสมอยู่จำนวนหนึ่งเพื่อดูดความชื้น ป้องกันการทำปฏิกริยาของกรดและเบสก่อนที่เราจะเอามาทำขนมนั่นเอง
 
ผงฟู
 
ผงฟูถือเป็น “สารเสริมคุณภาพขนมอบ” อย่างหนึ่ง ในยุคก่อนมีผงฟู การทำขนมอบให้ฟูเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องใช้กำลังคนและเวลาในการทำ เค้กบางตัวต้องใช้เวลาตีนานร่วมเป็นชั่วโมง พอคนรู้จักยีสต์ ก็มีการนำยีสต์มาใช้ในทำเบเกอรี แต่ต้องใช้เวลานานในการหมักบวกกับทำให้เค้กมีกลิ่นไม่น่ากินอีก หลังการคิดค้นผงฟูทำให้วงการเบเกอรีพัฒนาขึ้นอย่างมาก เพราะสามารถลดระยะเวลาในการทำขนม และทำให้มีการสร้างสรรค์ขนมตัวใหม่ๆ ขึ้นมากมากมาย มีการใช้ผงฟูทั้งในเค้กและขนมปัง ขนมปังที่ไม่ใช้ยีสต์ แต่ใช้ผงฟูเรียกว่า quick bread ยกตัวอย่างเช่น scone, muffin เป็นต้น
 
การใส่ผงฟูจะการันตีว่าขนมอบจะฟูแน่นอน?
 
คำตอบคือ ใช่ค่ะ ถ้าทำถูกต้องตามสูตรบอกเป๊ะนะคะ แต่เคยไหมคะ ทำชิฟฟอนเค้กสูตรใส่ผงฟู​แต่ออบออกมาขนมแบนแต้ดแต๋ เหตุการณืนี้เป็นตัวบอกว่า การใส่ผงฟูเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยเท่านั้น ไม่ใช่ตัวที่หลักช่วยชีวิติคนทำขนม การอบขนมเป็นวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ส่วนผสมในสูตร วิธีทำ ล้วนมีความสำคัญ และต้องการความแม่นยำ ดังนั้น ใส่ผงฟูแล้วก็อย่าลืมทำตามขั้นตอนอื่นให้เป๊ะด้วย
 
ผงฟูผงฟูทำให้ขนมนุ่มไหม
 
มีส่วนช่วย แต่ไม่ใช่เมนหลัก หน้าที่หลักมันคือทำให้ขนมฟู การที่ขนมจะนุ่มนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของเค้ก สูตร ส่วนผสมและเทคนิคการทำ หลายคนอาจจะเคยทำเค้กไม่ใส่ผงฟูแต่นุ่มมาก ในขณะเดียวกันอาจจะเคยทำเค้กใส่ผงฟูแต่มันไม่นุ่ม (อย่างที่หวัง)
 
ต้องใส่ปริมาณเท่าไหร่ ยิ่งใส่เยอะยิ่งดี?
 
ปริมาณที่ใส่ในสูตรขนม คิดแบบง่ายๆ คือใส่ตามสูตร แต่จะเห็นว่าในสูตรเค้กทั่วไป ปริมาณผงฟูจะที่ประมาณ 2-4% ของปริมาณแป้ง ขึ้นอยู่กับแต่ละสูตร

สำหรับเค้ก หากใส่ผงฟูมากเกินไป –> ฟองอากาศจะมีขนาดใหญ่มาก และแตกอย่างรวดเร็วขณะอยู่ในเตาอบทำให้ขนมฟูขึ้นมากแล้วยุบลง ผลคือได้ขนมเป็นโพรงใหญ่น้อย เนื้อขนมหยาบ และไม่ฟูอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ผงฟูบางตัวอาจมีผลต่อรสชาติ เช่นปร่าลิ้น ขม หรือเค็มขึ้น

แต่สำหรับขนมอบบางตัว ปริมาณผงฟูสามารถปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับว่าในสูตรนั้นมีส่วนผสมอื่นอะไรบ้างและมีวิีการผสมอย่างไร ตัวอย่างเช่น scone จะสังเกตว่าใส่ผงฟูมากกว่าปกติ บางสูตรใส่เยอะมากๆ แต่พออบออกมาขนมไม่ยุบและไม่เป็นโพรงแบบเค้ก เพราะสโคนมีส่วนผสมและวิธีทำที่แตกต่างจากเค้กนั่นเอง

สรุปว่า ทำตามสูตรที่ให้ไว้ดีที่สุดนะคะ สำหรับเค้กต้องระวังเพราะไม่ใช่ว่ายิ่งใส่เยอะยิ่งดี
 

ผงฟูซิงเกิ้ล (ผงฟูกำลังหนึ่ง)และดับเบิ้ลแอคชัน(ผงฟูกำลังสอง)คืออะไร
 
ถ้าใครชอบอ่านป้ายผลิตภัณฑ์สินค้า เวลาเลือกซื้อผงฟูจะเห็นว่า มีคำว่าดับเบิ้ลแอคชัน หรือ ซิงเกิ้ลแอคชัน กำกับอยู่ มันหมายความว่ายังไง

ผงฟูที่เป็นซิงเกิ้ลแอคชัน(ผงฟูกำลังหนึ่ง) คือผงฟูมีกรดเป็นส่วนผสมเพียง 1 ชนิด (มักเป็นครีมออฟทาร์ทาร์) ซึ่งทำปฏิกริยาทันทีเมื่อผสมน้ำหรือของเหลว หากเค้กหรือขนมอบที่ใช้ผงฟูชนิดนี้ ต้องรีบนำขนมเข้าเตาอบทันทีที่ผสมเสร็จ เพราะหากทิ้งไว้นานฟองอากาศที่เกิดขึ้นจะทยอยแตกและทำให้ขนมไม่ฟูอย่างเต็มที่

ผงฟูดับเบิ้ลแอคชัน (ผงฟูกำลังสอง) คือผงฟูที่จะทำงานคือเกิดการสร้างแก้สหรือฟองอากาศ 2 ครั้ง คือครั้งแรกเมื่อผสมของเหลวลงไป และอีกครั้งคือเมื่อส่งขนมเข้าเตาอบ ในส่วนผสมอาจจะมีกรด 2 ชนิดที่ทำงานในแต่ละปฏิกริยา หรือมีกรดตัวเดียวแต่ทำงานได้สองครั้งก็ได้ ผงฟูชนิดนี้เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบันเพราะให้ผลลัพธ์ที่แน่นอนกว่า และสามารถพักขนมได้นานถึง 15-30 นาทีก่อนส่งเข้าเตาอบ
 

 
วิธีการใช้และการเก็บรักษาผงฟู
 
วิธีการใช้
1. ตวงตามสูตร
2. ผงฟูมักเป็นส่วนผสมในของแห้ง ควรร่อนหรือใช้ตะกร้อมือตีให้เข้ากันกับแป้งเพื่อเป็นการกระจายผงฟู ทำให้เนื้อนขนมเนียนและสวยขึ้น

การเก็บรักษา
1.เก็บในที่แห้ง ปลอดความชื้น อย่า expose อากาศ เพราะในอากาศโดยเฉพาะบ้านเรามีความชื้น ทำให้ความสามารถของผงฟูลดลลง
2. ผงฟูที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน ควรทดสอบว่ามันยังใช้การการได้หรือไม่ ถ้ามีอายุ 1 ปีขึ้นไปแล้วแนะนำให้ซื้อใหม่เลยค่ะ ขวดนึงราคาไม่แพงมาก
 
ผงฟูมีวันหมดอายุ ? ทดสอบอย่างไรว่าผงฟูยังใช้ได้
 
ผงฟูมีวันหมดอายุนะคะ อยู่ที่ 6 เดือนถึง 1 ปี วันหมดอายุจะบอกไว้ที่ข้างกล่องชัดเจน แต่ถ้าใครมีผงฟู (ล้านปี) เก็บในกรุ และกำลังจะทำเค้กแต่ขี้เกียจเดินออกไปซื้อผงฟูกระปุกใหม่ มีวิธีทดสอบง่ายๆว่าผงฟูที่มียังใช้ได้ไหมคือ ผสมผงฟู 1 ชช ในน้ำร้อน 1/2 ถ้วย ต้องเห็นฟองอากาสเกิดขึ้นทันทีในปริมาณมาก ถ้าฟองอากาศเกิดขึ้นแบบนิดหน่อยๆ หรือเกิดแบบช้า ซื้อใหม่ดีกว่าค่ะ
 

 
เค้กไม่ใส่ผงฟูจะยังนุ่ม ฟูไหม

แม้ไม่ใส่ผงฟู เค้กก็ยังสามารถขึ้นฟูและนุ่มได้ ขึ้นกับ
1. ส่วนผสม ถ้าในส่วนผสมในวัตถุดิบที่มีความเป็นกรด และด่าง และมีของเหลว อยู่ก็สามารถเกิดปกิกริยาได้โดยไม่ง้อผงฟู​
2. ขั้นตอนการผสม มีความสำคัญมากในการทำเค้กหรือขนมอบ ถ้าใครทำเค้กบ่อยๆจะสังเกตว่ามีเทคนิคการผสมเค้กหลากหลาย และเทคนิคเหล่านี้มีผลดดยตรงต่อเนื้อขนมและความนุ่มฟูของขนมด้วย
 
คุกกี้ใส่ผงฟูเพื่ออะไร
 
ผงฟูจุดประสงค์หลักคือทำให้ขนมขึ้นฟูหรือช่วยเพิ่มฟองอากาศ แต่มันยังมีหน้าที่อื่นอีก เห็นได้ชัดจากคุ้กกี้ ที่เราจะไม่เห็นหรอว่าขนมมันขึ้นฟูแบบเค้กเพราะส่วนผสมและวิธีทำที่ต่างกัน แต่ผงฟูช่วยทำให้คุ้กกี้อบได้สีสวยและสุกเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เนื้อคุ้กกี้หนุบหนับและไม่แห้งด้วย
 
เผงฟูมีอันตรายต่อสุขภาพไหม
 
ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ ตราบใดที่ใช้ตามปริมาณตามสูตร ส่วนใหญ่แล้วใส่ในปริมาณน้อยมาก แต่ในขนมอบบางสูตรที่ใช้ผงฟูปริมาณสูงมาก อาจทำให้คอแห้งและหิวน้ำบ่อยได้
 
เบคกิ้งโซดา (baking soda) คืออะไร ทำงานอย่างไร
 

เบคกิ้งโซดา ชื่อเคมีคือโซเดียมไบคาร์บอเนต คนละตัวกับโซดาไฟนะคะ ตัวมันมีฤทธิ์เป็นด่างอ่อนๆ และเป็นหนึ่งในส่วนผสมหลักของผงฟู แต่ตัวมันเองสามารถทำให้ขนมขึ้นฟุได้โดยใช้หลักการเดียวกับผงฟูคือ เกิดฟองอากาศจากปฏิกริยากรดด่าง ความแตกต่างของเบคกิ้งโซดาและผงฟูคือ

1. เบคกิ้งโซดามีฤทธิ์เป็นด่างอ่อนๆ ต้องผสมกับส่วนผสมที่มีฤทธิ์เป็นกรดจึงจะทำให้ขนมขึ้นฟูได้ ในขณะที่ผงฟูมีฤทธิ์เป็นกลาง คือมีทั้งกรดและด่างอยู่ในตัวเองและสามารถทำงานได้เลยเมื่อผสมในของเหลว การเติมผงฟูลงไปในส่วนผสมไม่มีผลต่อความเป็นกรดด่างของส่วนผสม
 
2. ความสามารถในการเกิดแก้สหรือฟองอากาศของเบคกิ้งโซดาแรงกว่าของผงฟู 4 เท่า เบคกิ้งโซดาจึงใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าคือประมาณ 1/4 ชช ต่อแป้ง 1 ถ้วย (120 -150 g)
3. ถ้าใช้เบคกิ้งโซดา เมื่อผสมส่วนผสมเสร็จควรรีบนำเข้าเตาอบเพราะฟองอากาสจะเกิดขึ้นทันทีที่ผสมส่วนผสม ถ้าปล่อยไว้นานฟองอากาสจะทยอยแตกก่อน ทำให้ขนมไม่ฟูเท่าที่ควร ในขณะที่ผงฟูดับเบิ้ลแอคชันสามารถผสมแล้วรอได้ถึง 30 นาทีก่อนอบ
4. เบคกิ้งโซดาที่ใช้ในสูตรอาจจะไม่ใช่เพื่อแค่ให้ขนมฟูเท่านั้น มีผลต่อสี เนื้อขนมและรสชาติด้วย ในบางครั้งเราจึงเห็นมีทั้งผงฟูและเบคกิ้งโซดาในสูตรเดียวกัน ถ้าเห็นแบบนี้แสดงว่าเบคกิ้งโซดาใส่เพื่อปรับสมดุลย์กรดด่างของส่วนผสม หรือเพื่อให้ขนมสีเข้มขึ้น (ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เค้กกล้วยหอม และเค้กช็อกโกแลต ที่สูตรไหนใส่เบคกิ้งโซดาสีจะเข้มกว่าสูตรที่ไม่ใส่

เบคกิ้งโซดาใช้แทนผงฟูในสูตรขนมได้ไหม

ไม่ควรใช้ค่ะ แม้จะทำให้ขนมขึ้นฟูด้วยปฏิกริยากรดเบสเหมือนกันแต่มันมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน
ขนมในแต่ละสูตร คิดมาแล้วว่าจะใช้ผงฟูหรือเบคกิ้งโซดา และไม่ใช่อยู่ดีๆ นึกอยากใช้ตัวไหนก็ใช้ สูตรขนมที่ดีจะมีการบาลานซ์ความเป็นกรด ด่างของส่วนผสมและมีการเลือกใช้สารทำให้ขนมฟูที่เหมาะสมแล้วเพื่อให้ขนมมีสีสวย เนื้อสวย และรสชาติดี หากเราไปเปลี่ยแปลง หรือใช้ผงฟูแทนเบคกิ้งโซดา หรือใช้เบคกิ้งโซาแทนผงฟูในสูตร อาจส่งผลเสียต่อขนมที่ได้ น

ไม่ใส่เบคกิ้งโซดาได้ไหม

หากในสูตรมีเบคกิ้งโซดา แต่เราไม่ใส่ ผลคือ อาจจะทำให้สีขนมเปลี่ยน (สีไม่เข้ม) รสชาติเปลี่ยน และอาจจะทำให้ขนมนุ่มน้อยลง (ความเป็นกรดหรือด่างทำให้กลูเต็นไม่แข็งแรง–> ขนมนุ่ม)

Acidic ingredients include: milk, applesauce, soured milk or buttermilk, honey, brown sugar, molasses, cream of tartar, lemon juice or vinegar, chocolate and cocoa powder (only regular cocoa, not Dutch-process), fresh egg, cultured butter, cream cheese, mascapone cheese

Neutral: starch, wheat flour, granulated sugar, oil, butter (sweet cream butter)

Basic (alkaline) ingredients: Dutch process cocoa, unbleached wheat flour, grains, นมถั่วเหลือง, ถั่วต่างๆ

ทำไมขนมอบบางสูตรมีทั้งผงฟูและเบคกิ้งโซดา

ถ้าเห็นสูตรขนมมีทั้งผงฟูและเบคกิ้งโซดา ตัวที่ทำให้ขนมฟูคือ ผงฟู ส่วนเบคกิ้งโซดาอาจใส่เพื่อปรับสมดุลย์กรดด่างของส่วนผสม หรือเพื่อให้ขนมสีเข้มขึ้น (ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เค้กกล้วยหอม และเค้กช็อกโกแลต ที่สูตรไหนใส่เบคกิ้งโซดาสีจะเข้มกว่าสูตรที่ไม่ใส่
 

 

 
อะไรบ้างที่ทำให้ขนมอบฟู

การทำให้ขนมฟูขึ้นเมื่ออบใช้หลักการเดียวกันหมดไม่ว่าจะวิธีไหนคือ เพิ่มอากาศในส่วนผสม ฟองอากาศจะพองตัวขึ้นเมื่อนำขนมไปอบ และเมื่อขนมสุกทำให้ได้ขนมที่สูงขึ้นและมีเนื้อเป็นเหมือนรังผึ้ง การเพิ่มฟองอากาศในส่วนผสมทำได้หลายวิธี ได้แก่
^
^

1. การตี เป็นวิธีสามัญ ไม่มีอะไรซับซ้อน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและง่ายมากคือการตีไข่ โดยเฉพาะไข่ขาวเพราะปริมาตรเพิ่มขึ้นเยอะมาก ครีมและเนยก็สามารถตีให้ขึ้นได้
 
2. ยีสต์ ยีสต์เป็นสิ่งมีชีวิตนะคะ เป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง เป็นเชื้อจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อรา หลายคนเอามือทาบอก เชื้อรา! มันเป็นเชื้อโรคไหม เอามาทำอาหารแล้วกินจะปลอดภัยไหม อย่าตกใจกลัวไปนะคะ มนุษย์เราใช้ยีสต์มาทำอาหารและเครื่องดื่มมายาวนานตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ยีสต์ที่นำมาใช้ในการทำอาหารและเครื่องดื่มเป็นสายพันธุ์ที่แทบจะไม่ก่อให้เกิดโรคโดยตรง นอกจากนี้ยีสต์เหล่านี้ยังตายก่อนในขั้นตอนการผลิต ดังนั้นถือว่าปลอดภัยค่ะ กลับมาที่ขนมอบ ยีสต์จะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นฟองอากาศและแอลกอฮอล์โดยมีแป้งและไข่เป็นตัวช่วยเร่ง ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาเรียกว่า”การหมัก” ใครเคยทำขนมปังคงนึกภาพออกว่าจะมีการพักแป้ง (หรือที่เรียกว่าพรูฟ)ระยะเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปก็ประมาณ 1 ชม เพื่อให้น้องยีสต์เธอค่อยๆกินน้ำตาลไป สร้างฟองอากาสไปเรื่อยๆ หลังพักแป้งเสร็จโดว์จะเด้งฟูขึ้นสองเท่าเลยทีเดียวและได้กลิ่นแอลกอฮอล์มานิดหน่อย เมื่อนำไปอบฟองอากาศที่อยู่ในโดว์จะเซ็ททำให้ขนมฟู นุ่ม ในขณะที่ยีสต์ตายหมดจากความร้อนและแอลกอฮอล์ก็ระเหยไปจากความร้อนเช่นกัน ยีสต์นิยมใช้ในขนมปังไม่ค่อยนินมใช้ทำเค้กเพราะต้องใช้เวลานาน(กว่า)ในและกลินแอลกอฮอล์ที่อาจหลงเหลืออยู่หลังอบอาจทำให้เค้กมีกลิ่นไม่น่าพิศมัยนัก แต่ก็มีขนมปังที่ไม่ใช้ยีสต์และใช้ผงฟูแทนเรียก quick bread เช่น สโคน มัฟฟิน เป็นต้น
 
3. เบคกิ้งโซดา (baking soda) หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต (Na2CO3) รายละเอียดตามด้านบน
 
4. ผงฟู (baking powder) รายละเอียดตามด้านบน
 
***สงวนลิขสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้นำรูปภาพหรือข้อความใดๆไปใช้ก่อนได้รับอนุญาต หากคุณคิดว่าเนื้อหามีประโยชน์กรุณากดปุ่ม ” share” ท้ายบล็อกหรือ redirect link มาที่เพจนี้***

adrenalinerush
About me

Deeply in love with traveling, cooking and baking. Also love to write and like to share. Join me in traveling and kitchen adventures!

YOU MIGHT ALSO LIKE

Crème Anglaise – Rich and Delicious Pouring Custard
March 04, 2020
Homemade Vanilla Extract มาทำวานิลลาเอ็กซ์แทรคโฮมเมดกันเถอะ
January 13, 2020
Brown Butter (Beurre Noisette) คืออะไร
December 24, 2019
ชนิดของน้ำตาลในเบเกอรี
September 25, 2019
น้ำตาลในเบเกอรีทำหน้าที่อะไร
September 18, 2019
cream cheese
มารู้จักครีมชีสที่ใช้ในขนมอบกัน
July 17, 2019
วานิลลาชนิดต่างๆในเบเกอรี
February 10, 2019
whipping cream
Get to know about whipping cream เจาะลึกวิปปิ้งครีม
January 27, 2019
มาเลือกซื้อเนยกัน
December 25, 2018

6 Comments

FUFY
Reply May 15, 2019

สุดยอดค่ะ ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆแบบนี้อีกครั้งนะคะ

keng jira
Reply August 6, 2019

ยอดเยี่ยมค่ะ หามานาน ลงรายละเอียดดีมากค่ะ
ขอตามเป็น fanclub คุณหนึ่ง

สุทธวรรณ บีเวอ
Reply February 2, 2022

บทความดีมากๆ ค่ะ แต่ส่วนของยีสต์ ยีสต์เป็นจุลินทรีย์กลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เชื้อรานะคะ จุลินทรีย์แบ่งเป็น ยีสต์ แบคทีเรีย และเชื้อราค่ะ

    adrenalinerush
    Reply March 13, 2022

    ขอบคุณค่ะ

    adrenalinerush
    Reply March 13, 2022

    อ้างอิงจาก https://bio.libretexts.org/Bookshelves/Microbiology/Book%3A_Microbiology_(Boundless)/1%3A_Introduction_to_Microbiology/1.2%3A_Microbes_and_the_World/1.2A_Types_of_Microorganisms#:~:text=Microorganisms%20are%20divided%20into%20seven,mean%20of%20locomotion%2C%20and%20reproduction.

    และ https://www.britannica.com/science/microbiology/Types-of-microorganisms

    ยีสต์และราอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ fungi ทางการแพทย์เรียกกลุ่มยีสต์ที่ก่อให้เกิดโรคอยู่ในกลุ่ม fungal infection พอแปลเป็นไทยคือ กลุ่มเชื้อรา แต่ข้อความทำให้เข้าใจผิดได้จริงค่ะ โดยเฉพาะระดับ biology เพราะเค้าไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ยีสต์มีเซลล์เดียว แต่รามีหลายเซลล์และมีอีกหลายอย่างที่ต่างกัน ทำการแก้ไขเรียบร้อยแล้วค่ะ ขอบคุณที่ทักนะคะ

หลวงตา
Reply April 12, 2023

ดีมากๆ และดีที่สุด ความไม่รู้ดับได้ด้วยการเรียนรู้ เรียนรู้จากผู้รู้คือสุดยอดของความรู้ สามารนำไปต่อยอดทดสอบทดลองสูตรต่างๆได้ไม่รู้จบ

ขอบใจในเมตตาจิตที่ให้ความรู้เป็นวิทยาทาน

สาธุ.....ขอบุญจงรักษาท่านผู้เป็นครู

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *