เอสพีคืออะไร


เคยสงสัยไหมคะว่า “เอสพีคืออะไร” ใส่เพื่ออะไร ใช้ในเค้กชนิดไหน ดีงามอย่างไร ปลอดภัยหรือเปล่า บลาๆๆ

หนึ่งเห็นหน้าค่าตาเจ้าเอสพีตั้งแต่ยังเป็นเด็กประถม สมัยที่คุณแม่หัดทำเบเกอรี ซื้อเอสพีมากระป๋องใหญ่ๆ ยังจำสีและกลิ่นของมันได้ แต่พอโตขึ้นต้องไปเรียนหนังสือไกลบ้านและคุณแม่เลิกทำขนมอบก็ไม่ได้เห็นหน้าค่าตาเอสพีอีกจนกระทั่งมาหัดทำขนมอบเอง ช่วงแรกๆยังไม่ได้ใช้เอสพีเพราะหัดทำชิฟฟ่อนก่อนอยู่เป็นนาน กว่าจะหันมาลองทำสปัจ์เค้ก ตัวแรกที่ทำเลยคือ “เค้กส้มในตำนาน” อันลือเลื่อง พุ่งไปหาซื้อเอสพีที่ร้านขายอุปกรณ์เบเกอรีหน้าปากซอยทันที หยิบกระป๋องมาอ่านดู (หนึ่งเป็นคนซื้อของแล้วชอบอ่านส่วนผสมผลิตภัณฑ์มากว่าทำจากอะไร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ไม่รู้จัก) เอ๋…ทำไมแปลกๆ มีชื่อผลิตภัณฑ์ มีประโยชน์ มีวิธีการเก็บ มี อย ด้วย แต่…ทำไมไม่บอกส่วนผสม?? ผ่าน อย มาน่าจะมีส่วนผสมบอกนา เอาละสิ วิตกจริตค่ะ! จะกินเข้าไปขอรู้หน่อยได้ไหมว่ามันคืออะไร ต้องหาข้อมูลกันหน่อยแล้ว

เอสพี คือสารเสริมคุณภาพที่ UFM ผลิตมาจำหน่าย และยังมีสารเสริมคุณภาพอีกหลายตัวที่หนึ่งไม่เคยใช้แต่ที่คุ้นหูหน่อยคือ โอวาเล็ต สารพวกนี้ทำจากอะไร ช่วยเสริมคุณภาพของเค้กได้ยังไง มีอันตรายหรือเปล่า มาหาคำตอบกันค่ะ

เอสพี คือ อะไร

ตามฝากระป๋องบอกไว้ว่าเป็น foaming and emulsifying ingredient for cakes แสดงว่าเอสพีคือ foaming agent & emulsifier ควบสองตำแหน่งแบบ two in one เปิดฝาออกมาจะเห็นว่าเนื้อจะค่อนข้างใส มีกลื่นอื่นๆและลื่นๆ มันๆ หนึ่งแอบสังเกตว่าถ้าเปิดใช้แล้วเก็บสักพัก เนื้อจะขุ่นขึ้น

 
DSC_0848
^
^
^
^
แล้ว Foaming agent และเจ้า Emulsifier มันคืออะไร

จะมีความเป็นวิทยาศาสตร์เบาๆ มีภาษาอังกฤษมาแทรกเป็นระยะ แต่เข้าใจได้ไม่ยาก พอเข้าใจแล้วจะสนุกค่ะ ^_^

Foaming agent และเจ้า Emulsifier เป็น วัตถุเจือปนอาหาร ทั้งคู่

วัตถุเจือปนอาหาร หมายถึง “วัตถุที่ตามปกติมิได้ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร ไม่ว่าวัตถุนั้นจะมีคุณค่าทางอาหารหรือไม่ก็ตามแต่ใช้เจือปนในอาหารเพื่อประโยชน์ในทางเทคโนโลยีในการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา หรือการขนส่งซึ่งมีผลต่อคุณภาพหรือมาตรฐานหรือลักษณะของอาหาร และให้หมายความรวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร แต่ใช้รวมอยู่กับอาหารเพื่อประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นด้วย” (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 84 (พ.ศ. 2527) และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 119 (พ.ศ. 2532)

จริงๆแล้วสารทั้งสองตัวนี้ใช้ในของใช้รอบตัวเราที่ไม่ใช่แค่อาหารด้วย ยกตัวอย่างของใช้ใกล้ตัวเราที่มี foaming agent คือ สบู่ ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ในวงการอาหารก็มีการใช้สารตัวนี้เช่นกันโดยเฉพาะในเค้ก แต่อย่าตกใจไปนะคะ เพราะมันเป็นสารคนละตัวกับที่ใช้ในสบู่ ยาสระผม เพราะเราต้อง “กิน” เข้าไปแล้วไม่เกิดอันตราย

กลับมาที่ Foaming agent ที่เป็นวัตถุเจือปนอาหาร สารตัวนี้แปลเป็นภาษาไทยคือสารที่ทำให้เกิดโฟม ทำไมเค้กจำเป็นต้องมีโฟม
^
^
^
จำเป็นมากค่ะ โฟมก็คือฟองอากาศซึ่งเป็นตัวทำให้ขนมฟูและเพิ่มขนาดของเค้กเมื่ออบเสร็จ (เพิ่ม cake volume) ยิ่งมีฟองอากาศในส่วนผสมก่อนอบเยอะ ขนมจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเค้กที่ต้องการให้ฟูจะตีๆๆ อาจจะตีไข่ก่อนแล้วผสมส่วนผสมอื่นอย่างในสปันจ์เค้ก(สูตรดั้งเดิมที่ไม่ใส่สารเสริม) ชิฟฟอนเค้กก็ตีไข่ขาวจนฟูได้ยอดที่เหมาะสมก่อน แม้แต่ในบัตเตอร์เค้กก็มีช่วงที่ต้องตีนานๆ ที่นอกจากจะให้ส่วนผสมเข้ากันแล้วยังเป็นการเพิ่มอากาศในส่วนผสมด้วย ฟองอากาศเหล่านี้จะเข้าไปแทรกตัวอยู่ในโครงสร้างของส่วนผสมเค้ก ลองนึกถึงเนื้อเค้กที่เราอบเสร็จ ถ้าจ้องมองให้ลึกจะเห็นว่าเนื้อเค้กจะมีลักษณะเหมือนตาข่ายและมีรูเล็กๆอยู่ ซึ่งรูนี้คือที่อยู่ของโฟมหรือฟองอากาศส่วนตาข่ายที่ล้อมรอบมันอยู่คือโครงสร้างหลักของเค้ก(แป้ง+น้ำตาล+ไข่)นั่นเอง

เห็นช่องเล็กๆในเนื้อเค้กไหมคะ มันเคยเป็นโฟมหรือฟองอากาศก่อนอบ เค้กตัวนี้ใช้วิธีการผสมแบบชิฟฟอนเค้ก ไม่ได้ใส่ผงฟูหรือสารเสริม
 
DSC_0595 20.00.38
 
แต่โฟมเหล่านี้ไม่ stable หรือไม่คงนานนะคะ เธอจะแตกได้จากหลายสาเหตุ เช่น แตกเองจากการที่มีแรงตึงผิวเยอะ(อยู่เฉยๆก็แตกได้) จากการตีส่วนผสมที่แม้จะมีการเพิ่มอากาศแต่ก็มีบางส่วนแตกไปเช่นกัน จากการใส่ไขมันลงไป (เนย/น้ำมัน ซึ่งไม่ถูกกับโฟม เจอกันเมื่อไหร่ แตกหักกันตลอด) การตะล่อมเพื่อผสมเค้ก (ตะล่อมแรงไปหรือนานไป โฟมยุบหมด–>เค้กก็ยุบด้วย) นอกจากโฟมจะแตกแล้วยังมีปัญหาอื่นคือโฟมที่อยู่ใกล้กันเธอก็รวมกันซะงั้น เลยเกิดโฟมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะทำให้เนื้อเค้กมีรูใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ดูไม่งามตาเอาเสียเลย (ถึงตอนนี้เข้าใจเลยนะคะว่าทำไมต้องตีไข่ให้ได้ยอดที่เหมาะสม ทำไมต้องตะล่อมเบามือ ทำไมต้องรีบอบเค้กที่ผสมเสร็จแล้วทันที)

การทำเค้กดูมีความเสี่ยงที่เค้กจะพังเนอะ ในยุคอุตสาหกรรมอาหารจึงมีการนำสารต่างๆมาช่วยทำให้การอบเค้กเสียน้อยลง ช่วยลดต้นทุนการผลิต ได้เค้กแบบที่ผู้บริโภคชอบและเก็บได้นานขึ้นด้วย

foaming agent ช่วยเพิ่มอากาศในส่วนผสมเค้กได้อย่างไร

เธอจะเข้าไปเคลือบฟองกาศช่วยลดแรงตึงผิว ลองนึกถึงฟองสบู่นะคะ ฟองจะลื่นๆเอามือจิ้มก็ไม่แตกเพราะมี foaming agent เคลือบอยู่นั่นเอง ส่วนผสมเค้กก็เช่นกัน คราวนี้โฟมแตกยากแล้ว จะตีแรง ผสมแรง ผสมนาน หรือใส่ไขมันเข้ามาฟองอากาศก็ไม่แตก หรือเรียกอีกนัยหนึ่งคือฟองอากาศมีความคงตัว (stable) นอกจากนี้สารตัวนี้ยังลดการที่ฟองอากาศไปรวมตัวกันทำให้ฟองอากาศมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน อบออกมาแล้วเค้กเนื้อเนียนสวย

จบไปแล้วสำหรับ Foaming agent มาดูกันว่า อิมัลซิไฟเออร์ หรือ Emulsifier มันคืออะไร

อิมัลซิไฟเออร์ คือตัวช่วยให้ของของเหลวสองชนิดที่ปกติไม่สามารถผสมกันได้ให้ผสมกัน ยกตัวอย่างเช่น น้ำกับไขมัน ปกติไม่ผสมเป็นเนื้อเดียวกันหรอก ถ้าตั้งไว้เฉยๆไขมันจะลอยตัวอยู่ข้างบนและน้ำจะอยู่ด้านล่าง แต่ถ้าเอามาใส่ขวดปิดฝาแล้วเขย่าๆๆๆๆ นำ้และน้ำมันจะสามารถผสมกันได้ แต่ก็ไม่เป็นระยะะเวลาไม่นาน ถ้าวางทิ้งไว้เธอก็จะแตกคอกันอีกเพราะส่วนผสมนี้ไม่คงตัวหรือไม่ stable นั้นเอง แต่ถ้าเราเติมอิมัลซิไฟเออร์ลงไปแล้วเขย่า เชค เชค อีกรอบ น้ำกับไขมันเข้ากันได้และไม่แตกคอกันอีกต่อไป อิมัลซิไฟเออร์ช่วยให้น้ำและไขมันผสมกัน(emulsification) และยังช่วยให้ส่วนผสมคงตัวด้วย (stabilization)
^
^
^
^
แล้วมันเกี่ยวกับเค้กยังไง – – เกี่ยวแน่นอนค่ะเพราะส่วนผสมของเมีไขมัน (น้ำมัน/เนย)และน้ำ เราอาศัยการตีหรืออการผสมแรงๆ เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน เค้กที่มีไขมันน้อยและมีไข่แดงอยู่ในสูตร (เช่นในชิฟฟอน) มักไม่ค่อยมีปัญหาเพราะไข่แดงเป็นอิมัลซิไฟเออร์โดยธรรมชาติ สามารถจัดการให้น้ำและน้ำมันอยู่ร่วมกันอย่างเนียนได้ แต่เค้กบางชนิดที่ใช้ไขมันปริมาณสูงๆ เช่น บัตเตอร์เค้ก ต้องใช้การตีที่ถูกต้อง การที่น้ำและไขมันเกาะกันได้ไม่ดีจะส่งผลให้เนื้อเค้กไตเป็น หรือไม่ก็เนยหล่นไปอยู่ด้านล่างเป็นชั้นแน่นๆให้เห็นแล้วช้ำใจ T_T การใส่อิมัลซิไฟเออร์จึงเหมือนเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย ณ จุดนี้เอง

อิมัลซิไฟเออร์ทำจากอะไร

อิมัลซิไฟเออร์เป็น”ไขมัน”ชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีตัวจับไขมันและตัวจับน้ำด้วย อิมัลซิไฟเออร์มีทั้งในธรรมชาติทั้งในพืชและสัตว์ และลูกครึ่งคือสกัดจากธรรมชาติแล้วเติมสารสังเคราะห์ลงไป

จากธรรมชาติ ตัวอย่างง่ายๆคือ ไข่แดงและนมถั่วเหลือง (มี Lecithin เป็นอิมัลซิไฟเออร์) มันหมู น้ำผึ้ง
กึ่งสังเคราะห์ – เช่น Monoglycerides, diglyceride

**อิมัลซิไฟเออร์บางตัวเป็น foaming agent ด้วย แต่ foaming agent ไม่ได้เป็นอิมัลซิไฟเออร์ทุกตัวนะคะ ในกรณีของเอสพี มีคุณสมบัติทั้งสองอย่าง แต่เอสพีไม่มีบอกข้างฉลากว่าใช้สารตัวไหน สกัดจากธรรมชาติ(พืชหรือสัตว์)หรือสังเคราะห์ **

อิมัลซิไฟเออร์และอาหาร

จริงๆแล้วอิมัลซิไฟเออร์ใช้ในวงการอาหารมานานมากแล้วโดยเฉพาะในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ถือเป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food addictive เหมือนสีผสมอาหาร, สารกันบูด สารกันหืน, ผงชูรสและอื่นๆ) แม้จะไม่มีคุณค่าทางอาหารแต่ทำให้อาหารมีคุณภาพดีขึ้น เก็บได้นานขึ้นและมีลักษณะตามที่ผู้บริโภคต้องการ มีอาหารหลากหลายชนิดที่ใส่อิมัลซิไฟเออร์ (บางชนิดดูไม่น่าเชื่อว่าจะใส่) เช่น ไอศครีม,ลูกกวาด, ชอกโกแลต, เค้ก, ขนมปัง, ครีมเทียมที่ใช้ชงกาแฟ, มาการีน, เส้นก๋วยเตี๋ยว, เส้นสปาเกตตี้, มันบดสำเร็จรูป, ไส้กรอก และอื่นๆอีกมากมาย โปรดสังเกตว่าล้วนแต่เป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูป แต่การใช้อิมัลซิไฟเออร์ในวงการอาหาร กว่า 50% อยู่ในเบเกอรี่ค่ะ!!

อิมัลซิไฟเออร์และเบเกอรี

อิมัลซิไฟเออร์ นำมาใช้ในวงการเบเกอรีอย่างกว้างขวางทั้งเค้ก ขนมปังและขนมอบอื่นๆ ในบ้านเราก็คุ้นหูกันดีในชื่อ”สารเสริมคุณภาพ” ต่างประเทศอาจจะเรียก bread improver หรือ emulsifier/stabilizer ตรงตัวไปเลย แล้วแต่ว่าใช้ในการทำเค้กหรือขนมปัง แต่ตัวที่ใช้กันบ่อยๆในวงการขนมอบคือ Monoglycerine, diglycerides, Propylene glycol mono- & di-esters of fatty acids, Lecithin จริงๆแล้วมีมากมายหลายตัว ชื่อเสียงเรียงนามเธอล้วนแต่ไม่น่าจดจำทั้งสิ้น 😉

ถ้าจะมองหาว่า ไหนนะ เอสพี อยู่ไหน แล้ว โอวาเล็ต ล่ะ —-> ชื่อ เอสพี & โอวาเล็ต เป็นชื่อที่บริษัทผู้ผลิตคิดขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการเรียกชื่อและเหตุผลทางการตลาด (แหงละ ขืนเอาชื่อสารจริงมาตั้ง คงขายไม่ออกกันล่ะ ยาวก็ยาว จำยากด้วย) แต่ละยี่ห้อจะใช้สารตัวไหนเป็นอิมัลซิไฟเออร์ต้องอ่านฉลาก ซึ่งถ้าผ่าน อย น่าจะมีบอก (ในบ้านเรา วัตถุเจือปนอาหาร จะใช้ INS แทนการระบุชื่อวัตถุเจือปนอาหารเพื่อประหยัดพื้นที่บนฉลากสินค้า – ลองอ่านฉลากสินค้าดูนะคะ จะพบว่ามันสนุก และมีอะไรที่เราไม่คาดคิดเยอะ)

อิมัลซิไฟเออร์และเค้ก

เค้กที่ใส่อิมัลซิไฟเออร์จะมีปริมาณที่เยอะกว่า ฟูกว่า นุ่มกว่า เนื้อเนียนกว่า เพราะตัวมันทำให้

* ไขมันและน้ำผสมกัน (emulsification)
* เพิ่มอากาศในส่วนผสมเค้ก ซึ่งได้อธิบายไปแล้วว่าเพิ่มได้ยังไง
* เนื้อเค้กนุ่มและไม่แห้ง จากการที่โครงสร้างของเค้กเก็บน้ำไว้ได้มากขึ้น

เค้กสปันจ์แบบใส่เอสพี เนื้อเค้กเนียนมากกก
 
S__9207839
 
อิมัลซิไฟเออร์และขนมปัง

อิมัลซิไฟเออร์ที่ใส่ในขนมปังจะมีกลไกที่ต่างออกไปจากเค้ก ซึ่งหนึ่งไม่กล่าวถึงดีกว่า เพราะส่วนตัวทำขนมปังไม่เคยใส่สารเสริมเลย

อิมัลซิไฟเออร์ใช้ในเค้กชนิดไหน

ที่นิยมกันคือ
1. สปันจ์เค้ก และมักจะใช้ในวิธีการผสมเค้กแบบใส่ทุกอย่างลงไปในครั้งเดียว แล้วใช้การตีนานๆ ตัวอย่างเช่น เค้กส้มในตำนานที่เรารู้จักกันนั่นเอง
2. บัตเตอร์เค้ก บัตเตอร์เค้กที่ขายแบบอุตสาหกรรมที่เนื้อเนียนสวย ฉ่ำๆ ล้วนแต่ใส่สารเสริมหรืออิมัลซิไฟเออร์เกือบทั้งนั้น

การเลือกใช้อิมัลซิไฟเออร์

อิมัลซิไฟเออร์มีหลายตัว และแต่ละตัวมีคุณสัมบัติปลีกย่อยต่างกันออกไปและอาจใช้กับเค้กต่างชนิดกัน เอสพี ใช้ในสปันจ์เค้ก ถ้าเป็นบัตเตอร์เค้กจะใช้อีกตัว ดังนั้นควรเลือกใช้ตามที่ฉลากระบุ

อิมัลซิไฟเออร์อันตราย?

หนึ่งจะแยกพูดถึงสองหัวข้อคือ และกล่าวถึงเฉพาะในกรณีที่เราเติมเข้าไปแบบวัตถุเจือปนอาหารเท่านั้นนะคะ

1. เป็นพิษร่างกายในระยะเฉียบพลันหรือไม่ — คำตอบคือ ถ้าเป็นอิมัลซิไฟเออร์ที่ผ่านการตรวจสอบจาก อย แล้ว และใช้ในปริมาณที่กำหนด ไม่เป็นพิษต่อร่างกายค่ะ ปริมาณที่กำหนดดูจากไหน ก็ฉลากข้างกล่องนั่นเอง เช่น เอสพี ให้ใช้ 3.5%-5% ของน้ำหนักแป้ง ถ้าทำเค้กใช้ปริมาณแป้ง 100 กรัม ควรใช้ประมาณ 3.5-5 กรัม (แต่วิธีใช้ข้างกระป๋องมีคำต่อท้ายอีกนะว่าา “หรือขึ้นอยู่กับสูตรขนมที่ใช้” แล้วตกลงให้ใช้ได้มากสุดเท่าไหร่ อันนี้หนึ่งก็งง ถ้าอยากรู้สงสัยต้องเขียนไปถาม UFM เอิ้ก) ปริมาณที่ใช้เหมือนกับการใช้วัตถุจือปนอาหารตัวอื่นๆ คือใช้ปริมาณที่น้อยที่สุดที่สารนั้นทำงานได้ดีที่สุด การใส่มากเกินความจำเป็นไม่ทำให้เค้กนุ่มมากขึ้นและไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย

2. ผลต่อสุขภาพในระยะยาว — ต้องบอกว่ามีข้อมูลเรื่องนี้น้อยมากๆ มีบางแหล่งกล่าวถึงผลเสียที่ “อาจ” เกิดขึ้น หรือที่ต้อง “กังวล” เช่น ตัวอิมัลซิไฟเออร์เป็นไขมันชนิดหนึ่ง มันก็น่าจะมีผลต่อสุภาพเหมือนเพื่อนๆไขมันตัวอื่นหรือเปล่า บางแหล่งบอกอิมัลซิไฟเออร์บางตัวทำให้หนูทดลองป่วยเป็นโรคทางเดินอาหาร ระบบต่อมไร้ท้องผิดปกติและภูมิต้านทานต่ำลงด้วย แต่หนึ่งยังไม่สามารถหาข้อมูลทางวิชาการใดๆ มายืนยันได้ว่า อิมัลซิไฟเออร์ทำให้เกิดโรคอะไร กินมากเท่าไหร่ถึงจะเกิดโรค หนึ่งคิดว่าเหตุผลที่ทำให้การศึกษาผลเสียต่อสุขภาพของอิมัลซิไฟเออร์มีน้อยเพราะ อิมัลซิไฟเออร์มีหลายตัวมากๆๆๆๆ (จะเอาตัวไหนมาทดลองดี) ปริมาณที่ใส่ไม่มากและมักใส่ในอาหารที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดปัญหาด้วยตัวมันเองอยู่แล้วเช่น บัตเตอร์เค้ก (มีเนยเยอะกว่าอิมัลซิไฟเออร์เยอะมาก จะรู้ได้ยังไงว่าผลเสียเกิดจากเนยหรือจากน้องอิมัลซิไฟเออร์) ตัวสปันจ์เค้กเองแม้ตัวเค้กจะใช้ไขมันน้อยแต่ครีมที่ใช้ตกแต่งล่ะ บางคนใช้เนยขาว บางคนใช้เนย บางคนใช้เนย+เนยขาว ซึ่งปริมาณไขมันมีมากกว่าอิมัลซิไฟเออร์ที่ใส่ลงไปอีก

สรุปว่า ณ ตอนนี้นี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้าใครมีเอามาแชร์กันได้ แต่ขอให้เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้นะค้า ^_^

ใส่หรือไม่ใส่อิมัลซิไฟเออร์ใช้ในเค้กดี

หนึ่งไม่สามารถตอบแทนทุกคนได้ คงแล้วแต่วัตถุประสงค์ในการอบเค้กด้วย ใครที่ทำขายก็ไม่อยากทำเค้กแล้วเสีย อยากประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุนแถมได้เค้กเนื้อนุ่มแบบที่ลูกค้าต้องการด้วย ดังนั้นใครใคร่ใส่ใส่ ใครไม่ชอบไม่ต้องใส่ เพราะจริงๆแล้วมีสูตรเค้กมากมายที่ไม่ใส่สารเสริมแต่ก็นุ่มอร่อย แต่ใครที่จะใส่ ใส่ตามสูตรกำหนดไว้ดีกว่าไม่ต้องกระหน่ำเติมแถม 😉

ถึงตรงนี้น่าจะพอเข้าใจแล้วใช่ไหมคะว่า เอสพีคืออะไร อิมัลซิไฟเออร์คืออะไร ทำงานอย่างไร อันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ หนึ่งอยากส่งท้ายว่า วัตถุเจือปนอาหาร ถ้าจำเป็นต้องใช้ ใช้ให้น้อยไว้ดีที่สุดดีกว่า มันอาจจะช่วยเสริมคุณภาพเค้ก แต่มันไม่เสริมสุขภาพเราแน่ๆค่ะ

ขอบคุณที่ติดตามนะคะ ^_^

References

1. http://www.wissensforum-backwaren.de/files/wfb_broschuere27_e.pdf

2. https://www.craftybaking.com/howto/emulsify

3. http://www.naturalproductsinsider.com/articles/1996/02/emulsifiers-in-baked-goods.aspx

4. http://www.faia.org.uk/emulsifiers-in-food/

5. http://www.bakerpedia.com/ingredients/emulsifiers/

6. https://www.rikenvitamin.com/foodingredients/emulsifier/app_function.html

7. http://www.food-info.net/uk/qa/qa-fi63.htm

8. http://www.classofoods.com/page1_4.html

9. http://www.newsmax.com/Health/Dr-Oz/emulsifiers-metabolism-hormones-DrOz/2015/03/23/id/631927/

10.http://www.livestrong.com/article/445850-what-is-bad-about-mono-diglycerides/

11. http://www.nswo.moph.go.th/phar/files/d3.pdf

13. http://fic.nfi.or.th/law/upload/file1/2273_RG-550425-CD-INS.pdf

 
***สงวนลิขสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้นำรูปภาพหรือข้อความใดๆไปใช้ก่อนได้รับอนุญาต หากคุณคิดว่าเนื้อหามีประโยชน์กรุณากดปุ่ม ” share” ท้ายบล็อกหรือ redirect link มาที่เพจนี้***

adrenalinerush
About me

Deeply in love with traveling, cooking and baking. Also love to write and like to share. Join me in traveling and kitchen adventures!

YOU MIGHT ALSO LIKE

Crème Anglaise – Rich and Delicious Pouring Custard
March 04, 2020
Homemade Vanilla Extract มาทำวานิลลาเอ็กซ์แทรคโฮมเมดกันเถอะ
January 13, 2020
Brown Butter (Beurre Noisette) คืออะไร
December 24, 2019
ชนิดของน้ำตาลในเบเกอรี
September 25, 2019
น้ำตาลในเบเกอรีทำหน้าที่อะไร
September 18, 2019
cream cheese
มารู้จักครีมชีสที่ใช้ในขนมอบกัน
July 17, 2019
เจาะลึกผงฟูและเบคกิ้งโซดา
May 12, 2019
วานิลลาชนิดต่างๆในเบเกอรี
February 10, 2019
whipping cream
Get to know about whipping cream เจาะลึกวิปปิ้งครีม
January 27, 2019

11 Comments

FUFY
Reply July 6, 2016

สุดยอดดดด สมกับเป็นนักวิชาการจริงๆ ^_^

Mallie
Reply September 29, 2016

ข้อมูลเป็นประโยชน์มากค่ะ

Little Za
Reply October 31, 2017

กำลังจะทำขนมให้ลูกทาน ก็เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับสารเสริมคุณภาพ มีประโยชน์มากค่ะ

Salinee Aliiz
Reply February 2, 2019

อ่านเพลินเลยคร้า ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะคร้า มีประโยชน์มากคร้า

Sarunruch
Reply March 3, 2019

ขอบคุณที่สุดค่ะ หายสงสัยซะที

เอ็ม
Reply October 28, 2019

ขอถามหน่อยคับ อิมัลซิไฟเออร์ ใส่ในซอสหรือน้ำจิ้มสุกี้ได้มั้ยคับ แล้วต้องเป็นตัวไหนยี่ห้ออะไรคับ ผมหาคำตอบมานานมากคับแล้วคับ ขอคุณคับ

    adrenalinerush
    Reply November 1, 2019

    SP ไม่ใส่ในน่ำจิ้มสุกี้ค่ะ ไม่เคยทำนำจิ้มสุกี้แบบมีอิมัลซิไฟเออร์และไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้เลยค่ะ ลองอ่านดูในฉลากน้ำจิ้มสุกี้ที่บรรจุขายดูนะคะ ตรงส่วนผสมสำคัญ จะมีระบุว่ามีการเติมสารอะไร

ทัศ
Reply June 28, 2021

เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ ขอบคุณที่ให้ความรู้นะคะ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *