High Altitude Sickness


จั่วหัวแบบนี้ไม่ได้มาแฉเหล่าไฮโซ ไฮซ้อ หรือคนชั้นสูงที่ไหนนะคะ แต่วันนี้หนึ่งแบบซีเรี้ยสซีเรียส เป็นทางการ วิชาการสุดๆบล็อกแรก(และอาจเป็นบล็อกเดียว)เพราะจะพูดถึงสิ่งที่เข้าใกล้วิชาชีพตัวเองนิดนึง ว่าด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ก่อนอ่านโปรดใช้สติ ไม่เช่นนั้นอาจเผลอไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ได้ Smiley

เคยทราบไหมคะว่า การขึ้นไปอยู่ชั้นสูงทำให้เกิดโรคได้?

ชั้นสูงที่หนึ่งกล่าวถึง คือที่สูงจริงๆนะ สูงจากระดับน้ำทะเล ยิ่งสูงยิ่งหนาวไม่พอยังทำให้ป่วยด้วยเออ

โรคที่ว่านี้คือ “Altitude sickness” นั่นเอง

??????

โรคอะไร ไม่เคยได้ยินเนอะ ไม่ต้องตกใจค่ะเพราะหนึ่งก็เพิ่งรู้จักโรคนี้มาไม่นานมานี้เอง…เย้ย….

แหมๆๆ เป็นมดเป็นหมอก็ใช่จะรู้ทุกอย่างในโรคหล้านะคะ บางอย่างเราก็รู้น้อยถึงไม่รู้ก็มี เหตุผลคือ บางโรคเกิดในพื้นที่เฉพาะ ดังนั้นในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละประเทศจะมีโรคที่เฉพาะของเค้สหมอๆแถวนั้นรับมือได้ดีเพราะเจอกันบ่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่น วัณโรคปอด เป็นกันเยอะมากที่บ้านเรา หมอบ้านเรารักษาโรคนี้เก่งมาก แต่ถ้าเป็นวัณโรคที่อเมริกาหมอๆแถวนั้นเค้าจะแตกตื่น ตื่นเต้นกันมาก…แก้ตัวด้วยเหตุผลที่ฟังดูเข้าท่าใช่ไหมคะ

ว่าแต่หนึ่งจะมาพูดถึงโรคนี้ทำไมนะ โนๆๆๆ ไม่ใช่เพราะโรคนี้กำลังจะระบาด คร่าชีวิตคนทั้งทวีปหรือทำลายล้างโลกอยู่ (ดูหนังฮอลลิวูดเยอะไปปะเนี่ย) เพราะความจริงเจ้าโรค altitude sickness เกิดในกลุ่มคนที่เฉพาะมาก มีความแตกต่าง แบบว่าอยู่สวยๆไม่ท้าทายขอไปสูดอากาศในที่สูง ซึ่งก็คงไม่พ้นนักสำรวจ นักเดินทาง นักท่องเที่ยวทั้งหลายที่รักและชอบสถานที่สูงๆ(จากระดับน้ำทะเล)หรือนักปีนเขานั่นเอง

หนึ่งเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาเพราะวันก่อนอ่านบล็อกของคุณฟ้า กาบริเอล เห็นเธอบันทึกระดับความสูงของสถานที่ที่เธอไปแล้วหนึ่งแอบต๊กกะใจ ป้าดดด 4,xxx เมตรเหนือระดับทะเล แม่เจ้า สูงขนาดนี้ไม่เห็นเธอบ่นว่าอะไรนอกจากเรื่องเข้าห้องน้ำกลางแจ้งตอนอากาศติดลบ ฮา….

หนึ่งเคยไปเที่ยวสถานที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลแล้วมีอาการของโรคนี้เลยเอามาแชร์เป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อยเพื่อสร้างภาพให้บล็อกนี้ดูมีสาระและดูมีคุณค่ามากขึ้น เผื่อใครเตรียมตัวจะไปเที่ยวหรือกำลังเดินทางไปสถานที่สูงๆจะได้มีไอเดียและเผื่อผลบุญครั้งนี้จะทำให้หนึ่งได้เปลี่ยนสโลแกนจาก “สวยและรวยมาก” เป็น “สวยอย่างมีคุณค่า” เพราะพยายามรวยแล้ววันไม่เวิร์ค กร้ากกกก

เธอเห็นภูเขานั่นไหม…..Sacred Valley , Peru


กลับมาที่ “altitude sickness” ชื่อเป็นภาษาไทยก็มีนะ แต่ฟังแล้วอาจจะเมากว่าภาษาอังกฤษ ถ้าไปเสิร์ชหาโรคนี้ภาษาไทยจะเจอ

โรคแพ้ความสูงหนึ่งว่าฟังดูแปลกๆนา แม้จะเรียกง่ายก็เถอะ เพราะพาลทำให้คิดว่าเราจะมีอาการเหมือนภูมิแพ้เมื่อไปอยู่ที่สูงอยู่ร่ำไป

โรคจากขึ้นที่สูง อันนี้แปลตรงตัวเลยค่ะ แต่ตอนเรียกชื่ออาจจะรู้สึกขัดๆลิ้นขัดปากนิดหน่อยเรียกไม่คล่องนัก ทว่าหนึ่งชอบ เพราะหนึ่งชอบอะไรยากๆ Smiley มะช่ายยย เพราะมันดูสื่อและตรงกว่าอันแรกต่างหาก

หนึ่งรู้จักโรคนี้ตอนไปเที่ยวเปรู เพราะมีคำเตือนจากหัวหน้ากรุ้ปก่อนออกเดินทาง และตอนที่อยู่ที่เปรูมีเพื่อนในทริปมีอาการของ altitude sickness ถึง 2 คน และเจออีกครั้งตอนไปเที่ยวเลห์ลาดัก ได้เซย์ฮัลโหลทักทายกันเบาๆ เลยเอาเกร็ดความรู้มาฝากกันSmiley


Altitude sickness เป็นโรคที่เกิดจากการขึ้นที่สูง คำถามคือ แล้วสูงแค่ไหนถึงจะมีอาการ ???

คำตอบ : ตัวเลขความสูงที่ทำให้เกิดโรคนี้ไม่ใช่เลขกลมๆเป๊ะๆเพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมทั้งปัจจัยส่วนบุคคลด้วย แต่สามารถพบอาการนี้ได้ที่ระดับความสูงมากกว่า 2100 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป และยิ่งสูงก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้นด้วย

อุต๊ะ แล้วอย่างนี้เราต้องกังวลแค่ไหน…. เราควรรู้ไว้ค่ะแต่ไม่ต้องกังวลมากจนทำให้การท่องเที่ยวหรือการเดินทางไม่สนุก

ปกติสถานที่ที่เราเดินทางไปท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักมักอยู่สูงไม่เกิน 5,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล สูงกว่านี้ไม่น่ามีคนอยู่อาศัยกันแล้วคนที่จะขึ้นไปมักจะเป็นนักปีนเขาหรือนักสำรวจซึ่งต้องมีการเตรียมตัวและการปฏิบัติตัวที่เฉพาะ เพราะอากาศเบาบางมากๆ


มาชู ปิชู เปรู 2,430 เมตร



ดอยอินทนนท์ 2,565 เมตร


Cuzco, Peru 3,400 เมตร

เลห์ 3,6xx เมตร

Uros Islandม Peru; Lake Titicaca 3,812 เมตร

Everest Base Camp 5,364 อันนี้เคยอยากไป แต่ยังไม่ได้ไปแต่เห็นตัวเลขแล้วถ้าไปคงมึนแน่ๆ Smiley

ความสูงทำให้เกิดโรคได้ยังไงนะ

พอขึ้นที่สูงไปเรื่อยๆ มันก่อปัญหาให้เราได้นะคะ เคยสังเกตไหมว่า
* อากาศเย็นขึ้นเรื่อยๆ คำกล่าวที่ว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ไม่ได้กล่าวเกินจริงเลย

* อากาศจะแห้งมากกกก สังเกตได้จากผิวหน้าผิวตัวแห้งผาก ยิ้มทีทั้งตีนกา ตีนกรูแปะอยูาหน้าเต็มเลย อิอิ ดังนั้นมีโอกาสที่ร่างกายขาดน้ำสูง ยิ่งคนที่ไม่ชอบดื่มน้ำ(เหมือนหนึ่ง) หรือเที่ยวเพลินๆลืมดื่มน้ำ มีโอกาสแห้งแหงแก๋เป็นกล้วยตาก

* ได้อาบ UV มากกว่าที่ระดับน้ำทะเลอย่างมาก เน้นเลยว่าอย่างมาก เพราะมันรู้สึกเลยว่าแดดทะลุผิวเราวิ่งไปถึงตับไตไส้พุงเลยค่ะ คือเป็นการเปรียบเทียบอำนาจทะลุทะลวงของ UV บนผิวเรา ยิ่งอากาศแห้งๆฟ้าจะใสกริ้ก ไม่มีเมฆมาช่วยกรองUV เลย งานนี้รับไปเต็มๆ จะได้เข้าใจว่าอากาศเย็นแต่ไหม้มันเป็นยังไงก็คราวนี้ ดังนั้นครีมกันแดดมีก็โบกไปเลยค่ะ เพราะน้องฝ้าอาจจะมาขออาศัยอยู่บนหน้าเราได้และอาจจะเผลออยู่ยาววว

* ยิ่งสูง ความดันอากาศต่ำลง*** อากาศจะยิ่งเบาบางลงเรื่อยๆ นั่นหมายถึงถ้าเราหายใจเข้า 1 เฮือก ร่างกายจะได้รับออกซิเจนในอากาศน้อยลงไปด้วยนั่นเอง…ใช่แล้วค่ะ นี่คือปัญหาใหญ่ ถ้าออกซิเจนในเลือดลดลงถึงระดับหนึ่งจะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนไปด้วยแต่อย่าเพิ่งตกใจไปนะคะ เพราะการเปลี่ยนแปลงของความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศจะเกิดที่ระดับความสูงมากกว่า 2100 เมตรขึ้นไป


แล้วอาการเป็นยังไง เราจะรู้ตัวไหมถ้าเป็น

จริงๆอาการของ altitude sickness แบ่งตามความรุนแรงเป็น 3 กลุ่ม ตั้งแต่แบบเบาๆไปจนถึงน้ำท่วมปอด สมองบวมและเสียชีวิตได้…อย่างหลังฟังกลัวอยู่นะ แต่โชคดีว่าอาการหนักๆเกิดไม่บ่อยนัก ที่เป็นบ่อยๆคือแบบเบาๆ ซึ่งเค้ามีชื่อเรียกด้วยนะคะว่า “acute mountain sickness (AMS)”

เห็นภูเขาจนเมากันไปข้างนึงSmiley

อาการของ AMS เกิดจากการที่ร่างกายพยายามปรับตัวต่อภาวะที่มีออกซิเจนในเลือดต่ำนั่นเองและมักจะเกิดในช่วง 6-10 ชม หลังจากขึ้นที่สูง ถ้ามีอาการแล้วเรารู้ตัวแน่นอนค่ะ เพราะมันจะรู้สึกไม่ปกติ อาการสำคัญคือ “ปวดหัว” ใจเต้นเร็วหรือใจสั่น เบื่ออาหาร รู้สึกอ่อนแรงอ่อนล้าบางคนง่วงเหงาอยากนอนอย่างเดียว หายใจไม่ออก ออกแรงแล้วเหนื่อย บวมที่หน้า มือ หรือเท้า พอจะหลับบางคนนอนไม่หลับอีก

แต่ร่างกายเรามีความมหัศจจรย์เพราะสามารถปรับตัวได้แต่อาจจะใช้เวลานิดหน่อยคือประมาณ 1-2 วัน อาการเหล่านี้จะหายไปเอง แต่ถ้าไม่หายและยังมีภาวะขาดออกซิเจนสะสมหรือขึ้นไปที่สูงขึ้นกว่าก็มีโอกาสเป็นรุนแรงมากขึ้นจนน้ำท่วมปอด สมองบวม ซึ่งสองอาการนี้เป็นแล้วโอกาสเสียชีวิตสูง


อะไรคือความเสี่ยงต่อการเกิดโรค

คำตอบคือทุกคนที่ขึ้นไปที่สูงมีโอกาสเป็น ไม่เลือกเพศหรือวัย ไม่ว่าร่างกายจะฟิตปั๋งแค่ไหนก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้และความสวยไม่ช่วยอะไรเลย ณ จุดนี้ แต่…ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเป็นโรคนี้คือ

1. ระดับความสูง ยิ่งสูงมาก โอกาสก็มากตามไปด้วย

2. ความเร็วในการขึ้นที่สูง ถ้าเร็วไปโอกาสเกิดโรคสูง เช่นการบินจากระดับน้ำทะเลไปที่ระดับ 2,800 เมตรเลย 1 ในวัน โอกาสเกิดเป็นสูงกว่าการนั่งรถไปเรื่อยๆหลายๆชั่วโมงหรือเป็นวันก่อนไปถึงเพราะอย่างหลังร่างกายมีเวลาปรับตัว

หนึ่งเจอกับตัวเองทริปเลห์ ดาลัก บินจากนิวเดลีไปลงสนามบินเลห์ที่สูง 3,524 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลงจากเครื่องยังยิ้มได้สวยๆ

นั่งรถจากสนามบินไปที่พักไม่นานมาก พอลงจากรถเข็นกระเป๋าไปที่พักซึ่งมันต้องเดินขึ้นเนินเตี้ยๆ เอ๊ะ ทำไมมันเหนื่อยง่ายจัง เดิน 3 ก้าวเหนื่อยแล้ว Smileyปวดหัวตามมาเลย เป็นการปวดแบบหัวเบาๆ…มันมาแล้ว พอเช็คอินเสร็จ ง่วงค้า กลางวันแสกๆเลยโชคดีที่ยังไม่มีแผนเที่ยววันแรก แยกย้ายกันไปนอน 1 ชม ตื่นขึ้นมา
กรี้ดดดดด บวมค่าา หน้าบวม มือบวม ตามรูปเลย พอดูออกไหมคะว่าบวม 5555

โชคดีหนึ่งเป็นแค่วันแรก วันต่อมาอาการหายไปเองเพราะเราเที่ยวๆแถวนั้นไม่ได้ขึ้นไปสูงกว่าเดิมช่วงวันแรกๆ และกิจกรรมที่ทำก็ไม่ได้หนักหน่วงอะไร

3. กิจกรรมที่ทำขณะอยู่บนที่สูง และการออกแรงหรือมีกิจกรรมหนักระหว่างที่อยู่ที่สูงมันสำคัญนะคะ การวิ่งเล่น กระโดดโลดเต้นหรือทำกิจกรรมหนักๆทำให้ร่างการต้องการใช้ออกซิเจนมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิด AMS ได้มากขึ้นด้วย อันนี้หนึ่งก็เคยเจอกับตัวอีกแล้ว เป็นวันที่ 2 ในเปรูหลังจากวันแรกทุกคนไม่มีอาการอะไร แต่วันที่สองนั่งรถไปเที่ยวที่ระดับความสูง 4600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ผ่านทะเลสาปที่มีนกฟลามิงโก ด้วยความที่ชอบถ่ายรูปกันทุกคนเลยขอจอดถ่ายรูป พอรถจอดก็วิ่งเริงร่าไปที่ทะเลสาป

ผลคือ….หนึ่งหัวเบา ดูโหวงๆและเหนื่อยคล้ายจะเป็นลม แต่หยุดพักแป้บ เดินช้าๆ อาการก็หายไปเอง
ฟูฟี กลับมาที่รถ นั่งไปซักพัก หายใจไม่ออก จนต้องเดินบอกไกด์ที่มาด้วย
เพื่อนอีกคนปวดหัว เวียนหัว ต้องล้มตัวนอนอย่างเดียว

ไกด์เราแก้ปัญหาด้วยการแวะจอดรถที่เมืองเล็กๆระหว่างทาง และดื่ม coca tea พักจนอาการของฟูฟีดีขึ้นแล้วค่อยเดินทางต่อซึ่งก็เกือบชั่วโมงเหมือนกัน

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อยู่ที่สูงให้สำรวมไว้เถิดSmiley

4. ระยะเวลาที่อยู่ในที่สูง ถ้าอยู่ไม่นาน เช่น ขับรถขึ้นยอดดอยสูง 3000 เมตร แต่อยู่ไม่นานก็ลงมา โอกาสเกิด AMS ก็น้อยกว่า ประมาณว่าอยู่เดี๋ยวเดียว แต่ถ้าอยู่เป็นวันหรือสองวันในระดับความสูงเดิม ร่างกายสามารถปรับตัวได้ค่ะ

5. ภาวะขาดน้ำ เป็นตัวร่วมด้วยช่วยทำให้แย่เมื่อไปบวกกับปัจจัยอื่น ดังนั้นพกกระปุกน้ำไว้แล้วจิบบ่อยๆนะคะ ช่วยได้มากจริงๆ

6. คนที่มีรถประจำตัวได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด และ โรคโลหิตจาง ถือเป็นโรคมีต้องระวังและอาจเป็นข้อห้ามในการขึ้นที่สูงเลย ควรไปปรึกษาแพทย์ก่อนหากจำเป็นต้องเดินทางไปที่สูงมากๆ

7. คนที่เคยมีอาการของ AMS ในทริปก่อน ทริปต่อไปก็ทำใจว่ามีโอกาสเกิดอีกได้

เมื่อเกิดอาการแล้ว (ต้อง) ทำยังไงดี


ส่วนใหญ่สถานที่สูงๆมักจะธุรกันดารและอยู่ไกลมากกกกกก อยู่ที่ไหนซักที่บนโลก สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องรู้ตัวเองและรู้การปฏิบัติเบื้องต้น

1. ตั้งสติ ไม่ต้องตกใจมาก AMS เป็นอาการแบบเบาๆของ altitude sickness และมันต้องใช้เวลานานพอควรก่อนที่อาการจะแย่ลงมากๆ จนถึงขั้นรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้

2. บอกเพื่อนร่วมทริปหรือไกด์ว่าเรามีอาการ หากกำลังอยู่ระหว่างเดินทางขึ้นที่สูงกว่าต้องหยุดพักก่อน เคลื่อนไหวช้าๆ หายใจลึกๆ รอจนกว่าอาการจะหายไปเพื่อให้ร่างกายปรับตัวก่อนที่จะขึ้นที่สูงต่อ

3. ดื่มน้ำสะอาดอยู่เรื่อย เพื่อลดภาวะขาดน้ำ

4. ถ้าทำทั้งสามข้อแล้ว อาการไม่ดีขึ้น แถมรู้สึกว่าแย่ลงกว่าเดิมต้องลงมาจากระดับที่สูงนั้นทันที ห้ามดื้อดึงขึ้นไปที่สูงต่อ***

* ออกซิเจน- การดมออกซิเจนช่วยได้ แต่ปัญหาคือมันไม่ได้มีในจุดที่เราต้องการ แต่เคยมีเพื่อนไปเที่ยวแชงกลีร่า มีออกซิเจนเตรียมไว้ให้สำหรับนักเดินทางที่เป็น AMS ด้วย เก๋มากๆ แต่หลายๆสถานที่ไม่ได้มีแบบนี้

*Diamox หรือ Azetazolamide เป็นยาที่ใช้ทั้งในการป้องกันและรักษา AMS แต่บางคนอาจจะไม่ได้ผล ยามีผลข้างเคียงคือปลายมือปลายเท้าชา และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ คนที่แพ้เพนนิซิลินอาจจะแพ้ยาตัวนี้ได้ และพึงระวังว่าการกินยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์นะคะ เพราะยามีผลข้างเคียงที่เราอาจจะคิดไม่ถึง

* ถ้าไปแถบแอนดีส เช่นเปรู โบลิเวีย อาร์เจนตินา ตามที่พักหรือร้านค้าอาจจะมี coca tea ให้จิบเพื่อป้องกันการเกิด Altitude sickness ฟูฟี่ผู้ที่ได้ลองดื่มชานี้ตอนมีอาการบอกว่า ก็ดีนะ ดูไม่ค่อยช่วยอะไร แต่คนในท้องที่เค้าว่าช่วยแม้ทางวิชาการไม่รู้กลไก หนึ่งเห็นแหล่งท่องเที่ยวบางที่แถวนั้นมีลูกอมโคคาขายด้วยซ้ำ ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของท้องถิ่นเค้านะคะ

*นักปีนเขา ที่ขึ้นไปภูเขาสูงๆจะมีวิธีการปฏิบิติตัวเพื่อลดการเกิดโรคนี้้ ถ้าเป็นฝรั่งเค้าจะมีไกด์ไลน์การปฏิบัติตัวก่อนเดินทาง แผนการเดินเขาเลยชัดเจน แต่ถ้าไปเที่ยวขำๆ ก็ให้รู้จักว่าโรคนี้ไว้เมื่อมีอาการจะได้ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง มือใหม่หัดปีนเขาควรศึข้อมูลก่อนเดินทางนะคะ

* สำหรับคนที่เคยไปที่สูงแล้วมีอาการของ AMS หากทริปต่อไปต้องเดินทางไปที่สูงอีกอาจต้องกินยาป้องกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง

เมื่อรู้ทันโรคเราก็เที่ยวได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย

จบ lecture สำหรับวันนี้ ใครแอบหลับบ้างยกมือขึ้น Smiley

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันค่า

references:
1. http://haamor.com/th
2.http://wwwnc.cdc.gov/travel/yellowbook/2014/chapter-2-the-pre-travel-consultation/altitude-illness
3. http://en.wikipedia.org/wiki/Altitude_sickness


 
 
***สงวนลิขสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้นำรูปภาพหรือข้อความใดๆไปใช้ก่อนได้รับอนุญาต หากคุณคิดว่าเนื้อหามีประโยชน์กรุณากดปุ่ม ” share” ท้ายบล็อกหรือ redirect link มาที่เพจนี้***

adrenalinerush
About me

Deeply in love with traveling, cooking and baking. Also love to write and like to share. Join me in traveling and kitchen adventures!

YOU MIGHT ALSO LIKE

road trip USA
ขับรถเที่ยวอเมริกาไม่ยาก
October 11, 2016
Road trip in USA; How, where and when?
October 10, 2016
ร้านอาหารดาวมิชลิน
อยากชิมอาหารร้านอาหารดาวมิชลินทำอย่างไร
June 26, 2016
ร้านอาหารดาวมิชลินคืออะไร
June 09, 2016
“ประเทศฮอลแลนด์” ไม่มีในโลก…จริงหรือ
March 14, 2016
เที่ยวปารีสด้วยรถไฟ
เที่ยวปารีสด้วยรถไฟ
March 14, 2016

2 Comments

FUFY
Reply June 17, 2015

blog สาระอันแรกของเว็บนี้ อิอิ

    adrenalinerush
    Reply June 17, 2015

    เรื่องแรกเรื่องเตาอบจ้า

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *