ไขความลับ “ชูครีม” อบอย่างไรให้ไม่ fail


ไขความลับ “ชูครีม” อบอย่างไรให้ไม่ fail

ชูครีมเป็นขนมที่หนึ่งชอบกินมาก อบบ่อยมาก กินบ่อยที่สุดในบรรดาเบเกอรีทั้งหลายที่ทำมา มีเพื่อนเคยนั่งดูหนึ่งอบชูครีมแล้วบอกว่า ดูชิลมาก แป้บเดียวก็ออกมาเสิร์ฟแล้ว ดูเหมือนทำง่าย แต่เชื่อไหมคะว่าชูครีมเป็นขนมที่ “กว่าจะทำเป็น” หนึ่งแทบถอดใจ แต่พอทำเป็นแล้วไม่เคยอบพลาดอีกเลย ก่อนอื่นของอธิบายเพิ่มนิดนึงนะคะ ชูครีม ที่หนึ่งพูดถึงและอยากอบได้เป็นชูครีมหัวกลมเป๊ะๆ มีหน้าคุกกี้โปะ เพราะหนึ่งมองว่ามันดูสวย น่ารัก และมันอร่อยมากค่ะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนอบเสร็จใหม่ๆ) แต่ขอโทษนะคะ ชูครีมแบบหน้าแตกๆตอนนั้นยังอบไม่เป็น แต่อยากทำแบบหัวกลมเกลี้ยง ช่างดูไม่เจียม ฮ่าๆ แต่ด้วยความที่เป็นคนไม่ยอมแพ้ หาทุกช่องทางการศึกษาออนไลน์ ทั้งยูทูป ทั้งบล็อกต่างๆ ทั้งไทยทั้งเทศ แต่ยังไงก็ไม่สำเร็จ ขนมแบน ไม่พอง อบแล้วพองแบบไม่เต็มใจ พอเอาออกมายุบ ขนมหน้าแตก (ก็อยากให้หัวกลม) จนต้องไปปรึกษาคุณยา sana คุณยาน่ารักมาก แทบจะจับมือสอนทำออนไลน์หลังไมค์เลยทีเดียว พร้อมกับบอกคีย์เวิร์ดสำคัญคือ “ความชื้น” ทำให้หนึ่งเข้าใจและมาหาข้อมูลเพิ่ม จนมาถึงบทความ ไขความลับ “ชูครีม” อบอย่างไรให้ไม่ fail ในวันนี้ ขอบคุณนะคะคนสวย #รัก ^_^

 
ผลงานบางส่วนที่ทำไปสำหรับขนมในตระกูลนี้ มานั่งดูรูปแล้วก็รู้สึกว่า อบไปเยอะจริงๆ 😉

 
choux creme
 
ชูครีม หรือ choux creme หรือ choux à la crème หรือ profiterole หรือบางประเทศเรียก cream puff เป็นขนมลูกหรือขนมที่ทำจาก pâte à choux หรือ choux pastry มีขนมตัวอื่นที่คลอดจากท้องแม่เดียวกันอีกหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นเอแคลร์, paris brest, religieuse, St. Honoré หรือ croquembouches ชื่ออาจต่างกัน ขึ้นรูปต่างกัน แต่มีหลักการคล้ายกันหมด ถ้าอบได้อย่างหนึ่งมักจะทำตัวอื่นๆได้ ใครที่สงสัยว่า ชูครีมต่างจากเอแคลร์ที่บ้านเราเรียกกันติดปากยังไง หนึ่งมีคำตอบให้ ที่นี่

การที่หนึ่งทำชูครีมแล้วล้มเหลวช่วงแรกเพราะ “ไม่เข้าใจ” ธรรมชาติของขนมว่าเป็นยังไง ไม่รู้ว่าจุดไหนที่ควรระวังและต้องสังเกตเป็นพิเศษ หลังจากใช้ศึกษาเพิ่มเติม พร้อมหาเหตุผล “ทำไม…” ที่ตัวเองสงสัย ในที่สุดหนึ่งก็หาคำตอบได้ครบและวันนี้จะชวนทุกคนมาไขความลับกันค่ะ แล้วชูครีมจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ^_^

จริงๆหนึ่งเคยพูดหลักการบางอย่างไปในบล็อก อบเอแคลร์อย่างไรให้เพอร์เฟค ไปแล้ว ซึ่งจริงๆหลักการคล้าย แค่ใช้หัวบีบที่ต่างกันและขึ้นรูปต่างกัน แต่บล็อกนี้หนึ่งจะมาพูดเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่ได้พูด และขยายความให้เข้าใจมากขึ้น โดยเน้นที่ชูครีม
 
anatomy choux cream-กายวิภาคของชูครีม
 
โดยทั่วไปชูครีมมีรูปร่างกลม ด้านในกลวง ตัวเปลือกตอนอบเสร็จใหม่ๆจะกรอบ แต่เมื่อตั้งไว้สักพักหรือเมื่อบีบไส้แล้วอาจนิ่มลง ไส้ชูครีมแบบคลาสสิคเลยคือไส้วานิลลา แต่ปัจจุบันชูครีมมีความแฟนซีทั้งรูปร่างและตัวไส้ ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของเชฟหรือคนทำขนมเลยค่ะ ส่วนตัวหนึ่งชอบชูครีมที่มีหน้าคุกกี้โปะมาก ชอบผิวสัมผัสที่ต่างกันและตัดกันของตัวขนมที่มีทั้งความกรอบของหน้าคุกกี้ ความกรอบเบาๆของเปลือกขนมและความนุ่ม หอมวานิลลาของตัวครีม แบบมีสตรอเบอร์รีก็ชอบค่ะ อร่อย สดชื่น
 
choux
 
ไขความลับ สูตร choux pastry ของชูครีม
 
ถ้าลองเสิร์ชดูจะเห็นว่าชูครีมมีสูตรมากมาย ดูเหมือนต่างกันแต่ในความต่างหากมานั่งดูดีๆจะเห็นว่าส่วนผสมหลักมีแค่ 4 อย่างเท่านั้น คือ น้ำ แป้งสาลี ไข่ และไขมัน (เนยหรือน้ำมัน)
 
น้ำ เป็นส่วนผสมที่สำคัญมาก เพราะตัวชูครีมพองตัวจากไอน้ำที่เกิดจากน้ำในส่วนผสม #ไม่จำเป็นต้องใช้ผงฟูเลย ถ้าสังเกตจะเห็นว่าในสูตรชูเพสทรีมีประมาณของเหลวสูงกว่าปริมาณของแป้งอีก ที่เป็นอย่างนี้เพราะขนมจำเป็นต้องใช้ไอน้ำทำให้ขนมพองตัวนั่นเอง
 
แป้งสาลี จำเป็นต้องเป็นแป้งสาลี เพราะแป้งสาลีไม่ได้มีแค่แป้ง แต่มีโปรตีนชนิดหนึ่งที่เมื่อไปรวมตัวกับน้ำและมีการตี การนวดหรือการผสม จะทำให้เกิด กลูเตน –>gluten เป็นภาษาละตินที่แปลว่า–glue–หรือกาว ตัวมันมีโครงสร้างเป็นร่างแหทำให้ส่วนผสมทุกอย่างเกาะติดกันเหมือนเป็นกาว นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความยืดหยุ่น หรือ elasticity ซึ่งสำคัญมากในช่วงอบ ทำให้ขนมยืดและพองได้มากขึ้น แป้งสาลีมีหลายชนิดแบ่งตามปริมาณของกลูเตนตั้งมีน้อยไปมาก —> แป้งเค้ก แป้งเพสทรี แป้งอเนกประสงค์และแป้งขนมปัง ที่เห็นในสูตรชูครีมส่วนใหญ่คือแป้งอเนกประสงค์และแป้งเพสทรี
 
ไข่ เป็นส่วนผสมที่สำคัญมาก มีแป้งแล้ว มีน้ำแล้ว แต่ถ้าไม่มีไข่ชูก็พองไม่ได้มากขนาดนี้ หน้าที่ของไข่ในสูตรของชูครีม ได้แก่

1. ให้น้ำและความชุ่มชื้นกับตัวโดว์

2. การผสมไข่ทำให้มีอากาศแทรกเข้าไปในโดว์ น้ำจากทั้งไข่และน้ำที่ตัวแป้งอุ้มไว้บวกกับอากาศนี่เองที่ทำให้ขนมพองขึ้น **

3. เพิ่มโปรตีนทำให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้น โปรตีนที่ว่านี้อยู่ในไข่ขาว (เป็นคนละตัวกับกลูเตนที่มีอยู่ในแป้ง)ช่วยทำให้โครงสร้างของตัวโดว์แข็งแรงขึ้นและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โครงสร้างนี้ช่วยกันไม่ให้ไอน้ำออกจากตัวโดว์ได้ง่ายในช่วงอบ ทำให้ขนมพองและเป็นโพรงได้มากขึ้นอีก** ถ้าใครใส่ไข่น้อยกว่าในสูตรแล้วนำไปอบ จะพบว่าชูครีมไม่ค่อยพองตัวและไม่เป็นโพรง

4. ทำให้ขนมเริ่มพองตัวเร็วขึ้นเมื่อนำเข้าเตาอบ เพราะไข่มีจุดสุกหรือจุดเดือดต่ำกว่าน้ำ

5. เพิ่มรสชาติ
 
ไขมัน ที่นิยมใช้คือเนย แต่บางสูตรมีการดัดแปลงมาใช้น้ำมัน หน้าที่หลักๆของไขมันคือหรือเรื่องรสชาติและรสสัมผัสของของขนม ส่วนตัวหนึ่งชอบเนยมากกว่าน้ำมัน นอกจากนี้เนยช่วยจับอากาศในตอนผสม ทำให้เพิ่มปริมาณอากาศในโดว์ด้วย
 
**เกลือ**แม้ไม่ใช่ส่วนผสมหลักแต่มีความสำคัญมาก เพราะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกลูเตน สำหรับน้ำตาลนั้นใส่น้อยๆเพราะรสชาติหลักอยู่ที่ไส้ของขนมอยู่แล้ว
เห็นไหมคะว่าส่วนผสมแต่ละอย่างมีหน้าที่และความสำคัญต่างกันไป ไม่สามรถขาดตัวใดตัวหนึ่งไปได้
 
ผงฟูจำเป็นหรือไม่ หลายคนอาจจะเห็นว่ามีสูตรชูครีม หรือสูตรเอแคลร์แบบที่บ้านเราเรียกใส่ผงฟูด้วย ถามว่าจำเป็นไหม ตอบได้เลยว่าไม่จำเป็นค่ะ ถ้าเข้าใจและทำได้ถูกวิธีผงฟูไม่ต้องใช้เลย เพราะหลักการของชูครีมคือ “พองด้วยไอน้ำ” บวกโครงสร้างที่มีความยืดหยุ่นสูงของตัวโดว์ เดี๋ยวเรามาดูกันว่า การทำที่ถูกวิธี ทำอย่างไร
 

เคล็ดลับในการทำเปลือกชูครีมหรือชูเพสทรี(choux pastry)
 
เข้าใจสูตรแล้วมาถึงการลงมือทำ หนึ่งบอกก่อนว่ามันค่อนข้าง “tricky” แค่อ่านอย่างเดียวทำไม่ได้ ต้องลงมือทำและลองสังเกตดูด้วยนะคะ แต่ถ้าเข้าใจและทำได้แล้วจะไม่มีวันพังค่ะ
 
ทำไมต้องผ่านความร้อนสองครั้ง ชูเพสทรีที่จะนำมาอบเป็นเปลือกชูครีม จะผ่านความร้อนสองครั้ง ครั้งแรกตอนผสมแป้ง และครั้งที่สองในการอบ เพราะอะไรเคยสงสัยไหมคะ หนึ่งเคยสงสัยมาก พอได้คำตอบหนึ่งรู้สึกว่า คนที่คิดสูตรฉลาดมาก ขนมนี่ช่างมีทั้งวิทยาศาตร์และศิลปะผสมผสานกันอย่างลงตัวและสวยงาม
 
ผ่านความร้อนครั้งที่ 1 ทำไมต้องผสมแป้งในน้ำร้อนจัดที่มีเนยละลาย เพราะเปลือกชูต้องการไอน้ำในการพองตัวระหว่างอบและต้องใช้ปริมาณมากด้วย สังเกตว่าสูตรจะมีปริมาณของเหลวมากกว่าแป้งอีก ถ้าผสมดื้อๆในอุณหภูมิปกติเราคงได้ส่วนผสมเหลวๆ ยิ่งเพิ่มไข่ซึ่งเป็นของเหลวเข้าไปอีกสุดท้ายคงได้ส่วนผสมที่เรียกว่าของไหลแทน ไม่สามารถบีบได้ ด้วยความชาญฉลาดของคนที่คิดสูตร เลยนำของเหลวไปต้มให้เดือดแล้วผสมแป้งลงไป แป้งที่โดนความร้อนดูดน้ำไว้ในตัวมันและสามารถดูดไว้ได้หลายเท่ามาก เกิดการพองตัวขึ้น (gelatinization) น้ำจะถูกแป้งดูดไว้จนเกือบหมดพร้อมกับเนยละลายและฟอร์มตัวกันจนเป็นโดว์ เป็นวิธีการที่ชาญฉลาดมากค่ะ

**ถ้าใครทำขนมอบหรืออาหารอื่นๆจะพบว่าเทคนิคนี้ใช้ในการทำขนมปังบางสูตร (water roux หรือ Tang Zhong) หรือแม้แต่อาหารหรือของว่างในเอเซียบ้านเราเช่นกุยช่ายบางสูตรก็ใช้วิธีนี้ก่อน หลักการคล้ายกันคือต้องการเพิ่มน้ำให้กับส่วนผสม **
 
การให้ความร้อนครั้งที่สองคืือการอบ ความร้อนที่เกิดขึ้นตอนอบจะทำให้น้ำที่โดว์อุ้มไว้เปลี่ยนเป็นไอน้ำ และทำให้ขนมพองขึ้น อธิบายจากรูปด้านล่างนะคะ

 
ทำไมต้องผัดโดว์ต่อ จะเห็นว่าในขั้นตอนการทำ เมื่อผสมแป้งลงในของของเหลวที่ร้อนจัด ต้องยกลงจากเตาก่อนเพื่อไม่ให้แป้งไหม้ก่อนที่จะดูดน้ำไว้ ระหว่างนี้ต้องใช้ใบพายตะล่อมส่วนผสมจนเกาะกันดี แล้วนำขึ้นไปผัดบนเตาด้วยไฟอ่อนต่อ ขั้นตอนนี้สำคัญมากและมีผลต่อการพองของขนมด้วย การนำโดว์ขึ้นไปผัดเราไม่ได้หวังให้แป้งสุกนะคะ แต่ต้องการไล่น้ำส่วนเกินที่แป้งดูดไว้ไม่หมด ทำไมต้องไล่น้ำออก เพราะถ้าเก็บไว้ น้ำที่เหลือจะทำให้เราผสมไข่ในส่วนผสมได้น้อยลง พูดง่ายๆคือมันจะแทนที่ไข่ ไข่นั้นสำคัญในการพองตัวของขนมมากตามที่เขียนไว้ด้านบน #แล้วต้องผัดนานแค่ไหน บางสูตรบอกว่า 2-3 นาที หรือบางสูตรให้สังเกตตัวโดว์ที่แห้งแล้วแยกออกจากกันช่วงผัด แต่การผัดต้องระวังอย่าผัดจนแป้งไหม้หรือสุกไปก่อนนะคะ เพราะจะทำให้ขนมไม่พองเมื่อนำไปอบ
 
ทำไมต้องเริ่มผสมไข่เมื่อโดว์อุ่น เพราะถ้าโดว์ยังร้อนจัด ไข่จะสุกได้ แต่ถ้าปล่อยให้โดว์เย็นจนแห้งสนิทการผสมไข่จะยากกว่า อุณหภูมิที่อุ่นๆทำให้เพราะการผสมไข่กับโดว์ง่ายขึ้น
 
ใช้ไข่เท่าไหร่ถึงจะพอเหมาะ การทำเปลือกชูครีมนั้น ปริมาณไข่ที่ใช้ในแต่ละครั้งอาจะไม่เท่ากันทุกครั้งและอาจจะไม่เท่าตามที่สูตรระบุเป๊ะ ขึ้นอยู่กับว่าเราผัดโดว์ไล่น้ำได้มากแค่ไหน ถ้าผัดได้แห้งมาก โดว์ก็สามารถดูดไข่ได้มาก (ขนมก็จะพองได้มาก) แต่ถ้าผัดโดว์ไม่แห้งพอ มีน้ำเหลือเยอะ–>ใส่ไข่ลงไปได้น้อย–>เวลาอบขนมจะไม่ค่อยพองและไม่ค่อยกลวง

**การผสมไข่ควรค่อยๆผสมทีละน้อยเพื่อให้ตัวไข่ผสมกับโดว์ได้อย่างทั่วถึง ไข่ที่จะผสมควรตีให้เหมือนไข่เจียวก่อน แล้วคอยสังเกตโดว์ว่าได้ที่เมื่อไหร่**
 
**ถ้าใช้ไข่น้อยกว่าที่สูตรระบุไปมาก ขนมอาจจะมีปัญหาไม่พองและไม่เป็นโพรงเมื่ออบ แต่หากใช้ไข่ปริมาณมากกว่าสูตรระบุไม่เป็นไรนะคะ ตราบใดที่ส่วนผสมได้ที่ดี ไม่เหลวเกินไป**
 

เช็คส่วนผสมอย่างไรว่าได้ที่แล้ว หลังจากผสมไข่ลงไป จะรู้ได้อย่างไรว่าส่วนผสมได้ที่แล้ว ส่วนนี้สำคัญมาก(อีกแล้ว) ขนมจะพองมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจุดนี้ด้วย ส่วนผสมที่ได้ที่แล้วจะผสมกันเป็นเนื้อเดียว ไม่มีเม็ดแป้งเกาะเป็นก้อน และมีความหนืด ไหลได้ช้าๆแบบลาวา ถ้าใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้หยิบส่วนผสมขึ้นมาแล้วลองยืดออก จะเห็นว่าส่วนผสมสามารถยืดได้ ไม่ขาดง่ายๆ และเมื่อขาดแล้วส่วนผสมจะโค้งงอลง ถ้ายืดขาดง่าย แถมแป้งตั้งตรงแหนวแสดงว่ายังเติมไข่ได้อีก มือใหม่ลองเช็คบ่อยๆระหว่างผสมนะคะ แบเตอร์ที่ได้ที่ดีเวลาอบขนมจะพองได้เต็มที่และได้เปลือกที่บางสวย
 


 
อบอย่างไร หลักการอบชูครีมคืออบด้วยไฟแรงตอนต้น เพื่อให้ขนมพองตัวถึงขีดสุด แล้วค่อยลดความร้อนลงเพื่อให้เปลือกขนมสุกและอยู่ตัวพอ อันนี้เป็นไกด์ไลน์ทั่วๆไปนะคะ สำหรับใครที่อบชูครีมแบบอยากให้หน้าแตกมากๆ ง่ายมากค่ะ อบไฟแรงแล้วปล่อยให้ขนมหน้าแตกไปจนเต็มที่แล้วค่อยลดความร้อนลง แต่ถ้าอยากอบให้ขนมหัวกลมอาจจะต้องเพิ่มความระวังนิดนึง ตอนใช้เตาอบแบบตั้งโต๊ะซึ่งการกระจายความร้อนไม่ดีนัก หนึ่งจะลดอุณหภูมิเตาเมื่อสังเกตว่าขนมพองเต็มที่และจะเปิด-ปิดเตาเร็วๆ 2-3 ครั้งเพื่อไล่ความชื้น แล้วอบต่อจนเปลือกขนมเป็นสีน้ำตาลเข้มและสุกดีเพื่อไม่ให้ขนมยุบเมื่อนำออกจากเตา และทำให้ขนมกรอบด้วย แต่พอเปลี่ยนเตามาใช้แบบบิลด์อิน หนึ่งอบที่อุณหภูมิเดียวคือ 180 C และไม่ต้องเปิดเตาเลยเพราะการกระจายความร้อนและการระบายความชื้นของเตาดีมาก อันนี้แล้วแต่เตาแต่ละบ้านนะคะ เรื่องของเตาอบหนึ่งเคยเขียนไว้ที่นี่

เกิดอะไรขึ้นเมื่อชูอยู่ในเตาอบ

1- ชูเพสทรีที่บีบเสร็จ พร้อมนำเข้าเตาอบ

2 – เมื่ออบในเตาได้สักพัก ความร้อนน้ำที่อยู่ในโดว์กลายเป็นไอน้ำและพยายามลอยออกจากตัวโดว์ ในขณะที่โคงสร้างของโดว์(ไข่+กลูเตน)ขวางไม่ยอมให้ไอน้ำออกไปง่ายๆ ทำให้ไอน้ำถูกกักไว้ภายใน ไอน้ำยิ่งร้อนยิ่งขยายตัว ทำให้ความดันภายในสูงขึ้นเรื่อยๆดันให้ขนมพองออกในขณะเดียวกันเปลือกขนมที่ยังไม่สุกจะสามารถยืดขยายออก ทำให้ขนมพองขึ้นได้เรื่อยๆ โดยจะพองตามรูปร่างที่บีบไว้

3 – เมื่อเปลือกขนมเริ่มสุก จุดนี้เปลือกขนมจะไม่มีความยืดหยุ่นและไม่สามารถขยายต่อได้ เป็นจุดที่ขนมพองได้เต็มที่แล้วแต่ไอน้ำและความชื้นในโพรงขนมยังมีอยู่และพยายามที่จะออกจากตัวขนมโดยผ่านรูเล็กๆในโครงสร้างของเปลือกขนม ถ้าสังเกตใกล้ๆจะเห็นฟองอากาศเล็กๆบนเปลือกขนม

4 – เปลือกขนมสุกเต็มที่และแข็งแรงพอ เมื่อนำขนมออกจากเตาความร้อนที่ลดลงทำให้แรงดันจากไอน้ำในโพรงขนมลดต่ำลงอย่างรวดเร็วด้วย ถ้าเปลือกขนมไม่แข็งแรงพอเปลือกขนมจะยุบเมื่อนำออกจาเตา

 

นานาปัญหา
 
อบแล้วชูไม่พอง ข้างในไม่กลวง

– ผัดแป้งได้ไม่แห้งพอ
– ส่วนผสมข้นเกินไป
– มีไข่ในส่วนผสมน้อยเกินไป
 
ชูพองตัวดีในเตา แต่นำออกจาเตาแล้วยุบ

– ยังอบไม่ได้ที่ เปลือกขนมยังไม่แห้งพอ

เปลือกเชลล์ชื้นเร็วเมื่อตั้งไว้นอกเตา

อาจเป็นเพราะยังอบขนมไม่นานพอ เปลือกขนมยังไม่แห้งพอและยังมีความชื้นสูง หนึ่งแก้ไขด้วยการอบขนมจนเปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้ม เปิดเตาแล้วขนมไม่ยุบจึงเลิกอบ เมื่อนำออกจากเตาหนึ่งจะรีบเจาะรูที่ก้นชูทันทีเพื่อไล่ความชื้นออกไป วิธีนี้จะทำให้เปลือกชูกรอบนานขึ้น

บีบไส้แล้วสักพักเปลือกชูนิ่ม

ถือเป็นเรื่องปกตินะคะโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไส้ชูครีมมีน้ำและความชื้นสูง แต่ถ้าเปลือกชูนิ่มเร็วมาก ลองแก้ปัญหาแบบข้อข้างต้นดูนะคะ ชูครีมเป็นขนมที่อร่อยที่สุดในวันที่อบเสร็จ และหลังบีบไส้ไม่นาน นั้นคือช่วงฟินที่สุด ด้วยเหตุผลนี้ ชูครีมที่ขายในห้างดังบางร้านจะบีบไส้เมื่อมีลูกค้ามาซื้อเท่านั้น
 
มาถึงตรงนี้คิดว่าทุกคนน่าจะพอ “เข้าใจ” ธรรมชาติและหลักการทำเปลือกชูครีมหรือชูครีมมากขึ้น ต่อไปนี้การอบชูครีมจะไม่ยากอีกต่อไป แต่รู้เคล็ดลับแล้วก็ต้องลงมือทำฝึกฝนด้วยนะคะ เพราะ practice makes perfect ค่ะ ^_^

 
***สงวนลิขสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้นำรูปภาพหรือข้อความใดๆไปใช้ก่อนได้รับอนุญาต หากคุณคิดว่าเนื้อหามีประโยชน์กรุณากดปุ่ม ” share” ท้ายบล็อกหรือ redirect link มาที่เพจนี้***

adrenalinerush
About me

Deeply in love with traveling, cooking and baking. Also love to write and like to share. Join me in traveling and kitchen adventures!

YOU MIGHT ALSO LIKE

Crème Anglaise – Rich and Delicious Pouring Custard
March 04, 2020
Homemade Vanilla Extract มาทำวานิลลาเอ็กซ์แทรคโฮมเมดกันเถอะ
January 13, 2020
Brown Butter (Beurre Noisette) คืออะไร
December 24, 2019
ชนิดของน้ำตาลในเบเกอรี
September 25, 2019
น้ำตาลในเบเกอรีทำหน้าที่อะไร
September 18, 2019
cream cheese
มารู้จักครีมชีสที่ใช้ในขนมอบกัน
July 17, 2019
ทุเรียน
Durian Choux Cream ชูครีมไส้ทุเรียน
May 21, 2019
เจาะลึกผงฟูและเบคกิ้งโซดา
May 12, 2019
วานิลลาชนิดต่างๆในเบเกอรี
February 10, 2019

18 Comments

FUFY
Reply June 20, 2018

อธิบายได้ละเอียดมากๆ เห็นภาพชัดเลยค่ะ

Kasama Pom
Reply July 8, 2018

ขอบคุณค่ะ❤️

JUM
Reply January 30, 2019

อ่านสนุกมากค่ะ มีภาพประกอบด้วยทำให้เข้าใจง่าย ชอบกินชูครีมเหมือนกันค่ะ หากินอร่อยๆ ยาก ขอบคุณนะคะ

Wi
Reply June 3, 2019

สอบถามค่ะ เมื่อเราทำชูครีมเสร็จแบล้ว ถ้าจะทานวันถัดไป ควรเก็บใส่ตู้เย็นไหมคะ หรือ ไว้อุณหภูมิห้องได้คะ?

    adrenalinerush
    Reply June 7, 2019

    ไม่ต้องแช่เย็นค่ะ วางที่อุณหภูมิห้องได้ แต่วันรุ่งขึ้น ก่อนจะบีบไส้ ควรอบอุ่นอีก โดยใช้ความร้อนไม่ต้องมาก เวลาไม่ต้อนาน ส่วนตัวอุ่นที่ 150 C ประมาณ 5-10 นาทีค่ะ

ต้มยำกุ้ง
Reply October 14, 2019

สุดยอดมากคับ อธิบายละเอียดมาก

BumSiri
Reply November 21, 2019

มือใหม่หัดทำขนม ชอบอ่านบทความของคุณหนึ่งมากค่ะ เข้าใจง่ายสุดๆ
ขอบคุณนะคะ ที่แบ่งปันสิ่งดีๆ #รัก

นิภาพร คุณาวุฒิ
Reply February 13, 2020

กำลังจะทำซูครีมหลังจากไม่ได้ทำมานานมากเลยเปิดมาเจออธิบายได้ละเอียดดีมากเลยค่ะแต่ก่อนเคยอบแล้วไม่พองบ้างเหมือนกันพออ่านมาถึงตรงนี้เข้าใจเลยค่ะจอบคุณนะคะที่แชร์ความรู้แบบไม่หวงเลย

Pak
Reply March 23, 2020

ขอบคุณ​มากเลยค่ะ​ อธิบายละเอีดดมากกกก​ กำลังสงสัยเลยค่ะว่าทำไมอบแล้วไม่พองไม่กลวง​ เข้าใจเลย​ มือใหม่ค่ะ

เจ
Reply May 5, 2020

ขอบคุณมากค่ะ กับรายละเอียดที่เปิดเผยแบบเน้นได้ตรงกับปัญหาที่ข้องใจพอดี จะลองศึกษาแล้วลงมือปฏิบัติตามข้อมูลนี้นะคะ

จริยา
Reply October 2, 2020

ขอบคุณมากค่ะ ได้รับความรู้มากเลยค่ะ ใช้แก้ปัญหาได้ดีค่ะ

shisa
Reply October 28, 2020

ขอบคุณมากค่ะ ได้เคล็ดลับดีดีเยอะเลย แล้วจะลองไปฝึกทำดูนะคะ ขอบคุณที่แบ่งปันเทคนิคการทำขนมนะคะ???

Pppp
Reply April 1, 2021

สอบถามหน่อยค่า คือจะอบชู 2ชั้น แต่ถาดชั้นล่างมันจะพองไม่เท่าชั้นบน แก้ยังไงหรอคะ

    adrenalinerush
    Reply April 15, 2021

    ถ้าเตาไม่ดีจริง หรือไม่ใช่เตา convection ควรอบครั้งละถาดเท่านั้นค่ะ

Heen
Reply October 29, 2021

เตาอบไม่มีระบบพัดลมอบขึ้นมั้ยครับ

Taew
Reply June 7, 2022

เราสามารถใช้เนยเค็ม แทนดารเติมเกลือเข้าไปเพิ่มได้ไหมค่ะ

    adrenalinerush
    Reply June 13, 2022

    ได้ค่ะ แต่จะได้รสเค็มไม่เท่ากัน

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *