Diabetic dessert recipes: Introduction ขนมหวานสำหรับเบาหวาน: บทนำ


Diabetic dessert recipes: Introduction ขนมหวานสำหรับเบาหวาน: บทนำ

 

พอตัดสินใจว่าจะทำเรื่อง “ขนมหวานในผู้ป่วยเบาหวาน” ก็นั่งคิดนอนคิดว่าจะทำออกมาแบบไหน เพราะหนึ่งไม่อยากแค่ทำสูตรออกแล้วให้เอาไปใช้อย่างเดียว แต่อยากส่งสารให้ทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ
ฝ่ายคนทำขนม–> อยากให้ทำด้วยความเข้าใจ สามารถเลือกใช้วัตถุดิบและสามารถปรับสูตรอย่างมีความรู้
ฝ่ายคนที่เป็นเบาหวานแล้วอยากกินขนมหวาน –> ก็ควรความรู้และเข้าใจว่าจะเลือกกินขนมหวานอย่างไรให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่พุ่งสูงจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพ
พอหวังไว้เยอะเลยเรื่องเยอะ ^_^ ดังนั้นก่อนที่จะพุ่งไปหาสูตรขนม หนึ่งขอมาที่ “บทนำ” ก่อน ซึ่งขอเน้นย้ำว่า #มีความสำคัญมากและควรอ่านก่อนเพื่อเป็นการปูพื้นฐานและทำความเข้าใจ เพราะเรื่องขนมหวานสำหรับคนเป็นเบาหวานเป็นเรื่อง sensitive และต้องทำด้วยความระมัดระวังบนพื้นฐานความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นการไปเพิ่มโรคให้ผู้ป่วยเบาหวานอีก ในทางกลับกัน คนที่เป็นเบาหวานหรือคนดูแลก็ควรมีความรู้ เพราะห่างมีโรคเพิ่มจากเดิมจะมีปัญหาตามมาอีกมากมายเลยค่ะ

เบาหวาน คือโรคอะไร 

ก่อนจะไปทำขนมให้คนเป็นเบาหวานมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าโรคเบาหวานคืออะไร

 
เบาหวาน คือ โรคที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ ซึ่งอาจเกิดจากร่างกายขาดอินซูลิน (ตัวพาน้ำตาลในเลือดไปให้เนื้อเยื่อต่างๆใช้) หรือมีอินซูลินแต่อินซูลินทำงานบกพร่อง หรือตัวเนื้อเยื่อในร่างกายเองมีความผิดปกติไม่รับน้ำตาลแม้จะมีอินซูลินมามาแล้ว ผลคือทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

 
น้ำตาลมาจากไหน เข้ามาอยู่ในเลือดได้ยังไง

 

มาจากอาหารที่เรากินเข้าไปนั่นเอง อาหารที่เรากินทุกวันนี้มีคาร์โบไฮเดรตปนอยู่ไม่มากก็น้อย บางชนิดมีคาร์บสูง เช่น แป้ง น้ำตาล ขนมปัง มัน เผือก ข้าว ฯลฯ บางชนิดมีคาร์บน้อย เช่น เนื้อสัตว์ คาร์บพวกนี้เมื่อกินเข้าไปจะถูกย่อยกลายเป็นน้ำตาล (กลูโคส)แล้วถูกดูดซึมจากผนังลำไส้เข้าสู่เส้นเลือดซึ่งพอสูงถึงระดับหนึ่งจะไปกระตุ้นตับอ่อนสร้างอินซูลินมาพาน้ำตาลออกจากเส้นเลือดไปให้เซลล์ในเนื้อเยื่อต่างๆนำไปใช้ ในคนปกติระดับน้ำตาลในเลือดจึงไม่สูง

 
ร่างกายใช้น้ำตาลทำอะไร

 

น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานหลักแหล่งหนึ่งของร่างกาย (อีกแหล่งคือจากไขมัน) ร่างกายเราต้องการพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทราบไหมคะว่าลูกค้ารายใหญ่ของน้ำตาลในร่างกายเราคือ สมองและกล้ามเนื้อ ทุกครั้งที่กล้ามเนื้อขยับต้องใช้พลังงาน ทุกกิจกรรมที่เรา ไม่ทำงาน ทำอาหาร ทำขนม วิ่ง ว่ายน้ำ ต้องการพลังงาน

 
น้ำตาลในเลือดสูงทำไมต้องซีเรียส

 

หลายคนอาจจะรู้สึกว่าแค่น้ำตาลในเลือดสูงก็ไม่น่ามีอะไรหรือเปล่า แต่ความจริงแล้วพลังการทำลายล้างเธอสูงมาก เรียกได้ว่า #หวานพิฆาต แถมเธอทำแบบเงียบๆ ช้าๆ ไม่กระโตกกระตากอีก #เธอคือภัยเงียบ
 โดยปกติในเลือดเราจะมีกลูโคสหรือน้ำตาลอยู่จำนวนหนึ่งอยู่ตลอดเวลา มากบ้าง น้อยบ้างขึ้นอยู่กับว่าเป็นก่อนหรือหลังมื้ออาหาร แต่ระดับน้ำตาลในเลือดจะไม่สูงลอยตลอดเวลาเพราะร่างกายเรามีระบบควบคุมอย่างดี ตัวที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลักๆคือ #อินซูลิน (insulin) ที่สร้างมาจากตับอ่อนนั่นเอง
 ในคนเป็นเบาหวานเกิดความผิดปกติขึ้น ทำให้น้ำตาลค้างอยู่ในหลอดเลือดเป็นเวลานาน ยิ่งเรากินอาหารที่มีคาร์บสูง น้ำตาลก็จะมากสะสมขึ้นไปอีก #น้ำตาลปริมาณสูงๆที่อยู่ในหลอดเลือดนานๆจะทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหายและกระตุ้นให้ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ผนังหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นจากการที่มีไขมัน แคลเซียมและอื่นๆมาเกาะ –> หลอดเลือดตีบแคบลง –>อวัยวะนั้นขาดเลือด
 เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆว่าเส้นเลือดก็เหมือนแม่น้ำที่แตกเป็นเส้นสายเล็กๆ ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ น้ำก็คือเลือดที่ไหลเวียนพาสารอาหารต่างๆ (เช่น น้ำตาล) ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ถ้าแม่น้ำลำคลองเต็มไปด้วยเศษขยะ ก็ทำให้ตื้นเขิน น้ำไหลเวียนไม่สะดวก ยิ่งถ้าคลองเล็กๆ น้ำอาจจะแห้งไปเลย เมื่อเลือดไปเลี้ยงไม่พอ เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆก็เกิดปัญหาได้ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า เช่น

 

ถ้าเส้นเลือดในสมองตีบ – อัมพฤกษ์หรืออัมพาต
เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ – กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
เส้นเลือดเลี้ยงตาตีบ – ตามัว
เส้นเลือดเลี้ยงไตตีบ- ไตทำงานผิดปกติและอาจเกิดไตวาย
เส้นเลือดเลี้ยงปลายมือ ปลายเท้าตีบ -ถ้าเป็นมากทำให้อวัยวะส่วนนั้นขาดออกซิเจน ตายและเน่า เสี่ยงต่อการติดเชื้อ บางคนที่เป็นรุนแรงอาจต้องตัดขา
เส้นเลือดเลี้ยงปลายประสาทตีบ – ชาปลายมือปลายเท้า
เรียกได้ว่า #เบาหวานและโรคหลอดเลือดเป็นญาติสนิทที่มักจะมาด้วยกัน
 นอกจากนี้เบาหวานยังเป็นเพื่อนสนิทกับ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงและโรคอ้วน ชอบชวนมาอยู่ด้วยกันบ่อยๆ ยังไม่หมด เบาหวานยังทำให้ #ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำ เวลาป่วยแล้วหายช้า ติดเชื้อนิดหน่อยก็อาจบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ #น่ากลัวใช่ไหมคะ ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ผลเสียต่างๆที่ว่าเป็นผลเสียระยะยาว กว่าจะเห็นผลชัดเจนใช้เวลานานแถมไม่สามารถบอกได้ชัดๆว่าจะเป็นอะไรเมื่อไหร่ ทำให้คนเป็นเบาหวานหลายคนชะล่าใจ นอกจากผลเสียระยะยาวแล้ว #ผลเสียแบบเฉียบพลันก็มี เรียกว่า Hyperosmolar Hyperglycemic Nonketotic Syndrome (HHNS) ถือเป็นภาวะฉุกเฉินต้องรีบรักษาเพราะอาจทำให้โคม่าได้ แต่ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยและมักพบร่วมกับการเจ็บป่วยอย่างอื่นเช่นติดเชื้อ
ไม่ว่าจะผลเสียแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรังก็น่ากลัวเนอะ #น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติจึงเป็นเรื่องที่ต้องซีเรียส

 

คนป็นเบาหวานกินขนมหวานได้ไหม

 

กินได้ค่ะ…อาราย อุตส่าห์เขียนภาวะแทรกซ้อนเยอะแยะมากมายอย่างน่ากลัว ยังจะกินของหวานได้อีก หนึ่งไม่ได้ชักชวนให้คนเป็นเบาหวานกินขนมหวานนะคะ แต่บอกทางเลือกให้ว่าถ้าอยากกินก็มีทาง แต่ทางที่ว่ามีความพิเศษ…..#ต้องกินอย่างมีความรู้และระมัดระวัง ใช้คำว่า “ต้อง” เพราะสำคัญมากๆ

 ดัชนีไกลซิมิค(Glycemic index หรือ GI ) คืออะไร

 

คือการวัดดัชนีน้ำตาลในอาหารที่เรารับประทาน พูดง่ายคือวัดว่าคาร์บที่เรากินเข้าไปเมื่อถูกย่อยและถูกดูดซึมว่าจะทำให้มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นแค่ไหน โดยตัวเลขจะมีตั้งแต่ 0-100 ยิ่งตัวเลขมากแสดงว่าคาร์บนั้นทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาลกลูโคสซึ่งมีค่า GI เท่ากับ 100

 ดัชนีไกลซิมิค(Glycemic index หรือ GI ) มีประโยชน์อย่างไร

 

ใช้เป็นไกด์ไลน์ในการเลือกกินคาร์บและอาหารในผู้ที่เป็นเบาหวานเพื่อให้สามารถควบคุมสภาวะของระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ นักโภชนาการแบ่งกลุ่มอาหารซึ่งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตตามค่า Gl ออกเป็น 3 กลุ่มคือ
  1. อาหารที่มีค่า GI ต่ำ (GI น้อยกว่าเท่ากับ 55) คาร์บที่อยู่ในอาหารพวกนี้จะถูกย่อยอย่างช้าๆ ทำให้น้ำตาลค่อยๆถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดช้าๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นช้าและไม่มาก เช่น ถั่วชนิดต่างๆ ผักใบเขียว สตรอเบอรี แอปเปิ้ล มะเขือเทศ อาหารที่มีเส้นใยสูงเช่น เมล็ดธัญพืช
  2. อาหารที่มีค่า GI ปานกลาง (GI 56-69 ) เช่น อาหารประเภทเส้น ( pasta ) ถั่วคั่ว ถั่วฝักเขียว มันเทศ น้ำส้มคั้น บลูเบอรี่ ข้าวโพดหวาน whole wheat และข้าวกล้อง น้ำผึ้ง
  3. อาหารที่มีค่า Gl สูง (GI มากกว่าหรือเท่ากับ 70) คาร์บที่อยู่ในอาหารพวกนี้จะถูกย่อยเร็วและถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดเร็วมาก ผลคือน้ำตาลในกระแสเลือดขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ได้แก่ น้ำตาลทราย แป้งขัดขาว ขนมปังขาว ข้าวขาว มันฝรั่งอบ มันฝรั่งทอด คอร์นเฟลค แครอท ผลไม้อบแห้ง กล้วย แตงโม

 

**GI เป็นแค่หนึ่งในตัวช่วยในการเลือกรับประทานอาหารเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เช่นปริมาณที่กิน การนำอาหารนั้นมาทำอาหาร ขั้นตอนต่างๆอาจะปลี่ยนค่า GI เช่น การต้ม การทอด การบด นอกจากนี้มีข้อสังเกตุว่า #ผลไม้ยิ่งสุก ค่า GI ยิ่งสูงขึ้น ในขณะที่ #อาหารที่มีปริมาณไขมันหรือไฟเบอร์สูงจะมีค่าGI ต่ำ
** #ค่าGIมีประโยชน์สำหรับคนทำขนมหวานสำหรับผู้ป่วยเบาหวานด้วย เพราะจะช่วยเป็นไกด์ไลน์ในการเลือกวัตถุดิบมาทำขนม
**ใครที่อยากรู้ว่าอาหารอะไรมีค่า GI เท่าไหร่สามารถเสิรช์หาใน google ได้เลย

 เป็นเบาหวานกินขนมหวานอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

 

อารัมภบทไปแล้ว มาเข้าเรื่องกันเลยว่า เป็นเบาหวานแล้วจะกินขนมหวานอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ หลักการสั้นๆง่ายๆคือ #กินให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงเร็วมากและกินไม่ให้อ้วน ทำยังไง มาดูกันค่ะ
1. เลือกกินอย่างเหมาะสม การจะเลือกได้ก็ต้องมีความรู้ คือ รู้ว่าเรากินอะไร(ขนมหวานนั้นมีส่วนผสมอะไร) และรู้ด้วยว่าเราควรกินอะไร เรื่องนี้รายละเอียดเยอะมากสามารถแยกมาเขียนอีกเรื่องได้เลย แต่หนึ่งจะสรุปแบบง่ายๆคือ
  • หลีกเลี่ยงขนมหวานที่ทำจากวัตถุดิบที่มีค่า GI สูง เช่น น้ำตาลทราย กลูโคส (แบะแซ) ลูกอม คาราเมล แป้งขัดขาวทุกชนิด ผลไม้อบแห้งทุกชนิด ผลไม้สดที่มีรสหวานจัดเช่น มะม่วงสุก ทุเรียน ลำไย เงาะ
  • เลือกกินขนมที่ทำจากวัตถุดิบที่มีค่า GI ต่ำหรือปานกลาง เช่น แป้งโฮลวีท almond meal ไข่ขาว นมถั่วเหลืองที่ไม่หวาน โยเกิร์ตไขมันต่ำที่ไม่หวาน นมจืดไขมันต่ำ ผลไม้สดตระกูลเบอร์รี่โดยเฉพาะสตรอเบอร์รี เลมอนหรือมะนาว และสารให้ความหวาน(ซึ่งเดี๋ยวมาทำความรู้จักอย่างละเอียดในบทต่อไป)
  • เลือกกินไขมันดีในปริมาณที่ไม่มาก ไขมันในเบเกอรีเป็นของคู่กันเพราะช่วยทั้งเรื่องโครงสร้างและรสชาติ ไขมันในขนมหวานอยู่ในหลายรูปแบบเช่น ไข่แดง น้ำมัน เนย ครีม นม ถั่ว ชอกโกแลตที่มี cocoa butter ชีส (โปรดสังเกตว่ามีแต่ของอร่อย ^_^) เบาหวานมักจะพาโรคอื่นๆมาด้วย ที่เป็นคู่หูไปด้วยกันตลอดคือ “ไขมันในเลือดสูง” ไขมันที่ว่าเป็นไขมันแบบร้าย ที่สามารถไปเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบ ดังนั้น #คนที่เป็นเบาหวานควรเลือกกินไขมันด้วยความระมัดระวัง จริงๆแล้วในคนปกติก็ควรระวัง แต่เบาหวานต้องระวังให้มากขึ้น การกินไขมันดีจะช่วยไปลดระดับไขมันร้ายในร่างกายได้ ตัวอย่างไขมันดีในขนมหวานเช่น ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ (อัลมอนด์ เฮเซลนัท พิสตาชิโอ) น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก #โปรดระวัง #แม้จะเป็นไขมันดีแต่กินเยอะเกินไปก็อ้วนได้
2. กินในปริมาณที่ไม่มาก ไม่ใช่พอเห็นว่า GI ต่ำเลยกระหน่ำกินเข้าไปอย่างเยอะ ซึ่งสุดท้ายก็ไปทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้วัตถุดิบบางอย่างมีค่า GI ต่ำเนื่องจากมีไขมันสูง งานนี้ #ก็อ้วนสิคะ การควบุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนขึ้นสำคัญมากสำหรับคนที่เป็นเบาหวานเพราะความอ้วนทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดยากแล้วยังไปเชื้อเชิญญาติสนิทโรคอื่นให้มาเร็วขึ้น ทั้งความดันสูง โรคหัวใจอีก #ชุดใหญ่เลย หลายคนอาจจะสงสัยว่า กินเท่าไหร่ที่เรียกว่าเหมาะสม ซึ่งบอกตรงๆว่าตอบยากจริงๆค่ะ เพราะแต่ละคนมีการเผาผลาญอาหารต่างกัน ต่างเพศ ต่างวัย ต่างอายุ เป็นเบาหวานรุนแรงต่างกัน บางคนมีภาวะแทรกซ้อนอื่นหลายอย่าง บางคนยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน จึงไม่มีตัวเลขให้เป๊ะๆสำหรับทุกคนเพราะแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ง่ายที่สุดคือ #กินให้น้อยที่สุด ขนมหวานไม่ใช่อาหารหลัก กินเพื่อความสุขใจ ค่อยๆละเลียดกินสบายๆ น้อยๆ ดีกว่าค่ะ ถ้าใครอยากกินขนมมากขึ้นใช้การลดปริมาณอาหารหลักในมื้อนั้นจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้ในระดับหนึ่ง
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังช่วยกระตุ้นให้เนื้อเยื่อต่างๆนำเอาน้ำตาลไปใช้ได้ดีขึ้นนอกจากนี้ยังมีประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย อย่ารอช้า มาออกกำลังกายกัน
 
4. หมั่นตรวจค่าน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น บางคนมีเครื่องตรวจวัดที่บ้าน ตรวจเองไม่ยาก(แต่อาจจะหวาดเสียวหน่อย) ซึ่งสะดวกมาก หรือบางคนไปตรวจที่ รพ ก็ว่ากันไป อย่าลืมไปตามหมอนัดนะคะ
ทั้ง 4 ข้อนี้ควรปฏิบัติควบคู่กันไปนะคะ ถ้าทำได้รับรองว่าน้ำตาลในเลือดไม่สูงกวนใจแน่ๆค่ะ

 

ปล โปรดอ่าน
  1. #ทริคเล็กๆน้อยในการกิน ถ้าจำเป็นต้องกินขนมที่มีค่าGIสูง แบบว่าอยากกินจริงๆ #สามารถกินได้ในปริมาณน้อยๆ แล้วกินอาหารอื่นที่มีค่า GI ต่ำที่มีกากอาหารเยอะๆ เช่น ผัก หรือเบอร์รี่สดควบคู่กันหรือในมื้อเดียวกัน ตัวอย่างการกิน เช่น อยากกินขนมหวาน GI สูงหลังอาหารเที่ยง อาหารเที่ยงมื้อนั้นควรเพิ่มผักใบเขียวให้มากขึ้นและลดปริมาณคาร์บในอาหารให้น้อยลง(ลดข้าวลง) หรืออยากกินขนมหวาน GI สูงระหว่างมื้ออาหาร ก็กินขนมหวานคู่กับผลไม้สดตระกูลเบอร์รี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตรอเบอร์รี จะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นช้าลง
  2. ไกด์ไลน์ข้างบนเป็นหลักทั่วๆไปเท่านั้นนะคะ แต่ละคนเป็นเบาหวานในระดับที่ต่างกัน อายุต่าง มีโรคแทรกซ้อนต่างกัน ในคนที่มีภาวะแทรกซ้อนหลายโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าควรกินและควรงดอะไร

 

ขนมหวานสำหรับคนเป็นเบาหวานควรเป็นแบบไหน

 

สำหรับข้อนี้ เป็น คอนเซปต์ในการทำขนมหวานสำหรับคนเป็นเบาหวานตามแบบฉบับของหนึ่ง ใครอยากเพิ่มเติมมากกว่านี้ทำได้เลยค่า ถ้าแบบของหนึ่งคือ
  1. เลือกใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัย หนึ่งจะเลี่ยงการเติมกลิ่นหรือสีผสมอาหารหากไม่จำเป็น
  2. กินแล้วไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเร็วและสูงมาก
  3. ไขมันไม่สูงมากและเลือกใช้ไขมันที่มีประโยชน์
  4. มีรสชาติที่อร่อย รสไม่ผิดเพี้ยนไปจนกินแล้วรู้สึกแปลก
  5. แคลอรีโดยรวมไม่สูงมาก
  6. สูตรขนมที่จะลงต่อไปจะมีการใช้วัตถุดิบหลากหลาย สูตรขนมแต่ละสูตรอาจจะไม่เหมาะกับทุกคน เวลาลงสูตรหนึ่งจะพยายามบอกว่าทำไมถึงใช้วัตถุดิบนี้ สามารถใช้อะไรแทนได้ และจะมีการคำนวณพลังงานต่อสูตรให้
  7. แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็น “ขนมสำหรับคนเป็นเบาหวาน” ไม่ได้หมายความว่าคนเป็นเบาหวานจะกินได้เท่าไหร่ก็ได้ ต้องกินอย่างมีสตินะคะ เพราะแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนสูตรแล้วแต่ก็ยังถือว่ามีคาร์บและ/หรือ ไขมันในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น #อย่ากินเยอะเกินไป
  8. หนึ่งไม่สนับสนุนให้กินขนมหวานบ่อยนะคะ แม้จะได้ชื่อว่าสูตรสำหรับคนเป็นเบาหวาน การกินหวานบ่อยๆ จะทำให้รู้สึกติด อยากกินอยู่ร่ำไปและอาจเผลอกินมากกว่าที่ควรจะเป็น ผลคือ น้ำหนักขึ้น อ้วน และระดับน้ำตาลในเลือดสูง

 

ทำขนมสำหรับคนเป็นเบาหวาน ควรรู้อะไรและควรทำอะไรบ้าง

 

สำหรับใครที่อยากทำขนมหวานสำหรับคนเป็นเบาหวานไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ตัวเองป่วยเอง ต้องดูแลพ่อแม่หรือญาติที่เป็นหรือแม้แต่ใครที่สนใจอยากทำขาย มีสิ่งที่ควรรู้และควรทำคือ
  1. รู้และเข้าใจโรคเบาหวานรวมทั้งภาวะแทรกซ้อน จะได้ตระหนักและระมัดระมังในการเลือกวัตุดิบ
  2. รู้และเลือกวัตถุดิบมาใช้ แน่นอนว่าวัตุดิบจะแตกต่างออกไปจากสูตรปกติ ราคาอาจสูงกว่า เรื่องนี้มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่ไกด์ไลน์ง่ายๆคือ ดูจากค่า GI โดยเลือกวัตถดิบที่มีค่า GI ต่ำถึงปานกลาง และการเลือกใช้ไขมันที่มีประโยชน์มาใช้ เรื่องวัตถุดิบค่อยๆเรียนรู้ไปพร้อมสูตรนะคะ
  3. ถ้าใครทำขาย การบอกว่าในสูตรมีส่วนผสมอะไรปริมาณเท่าไหร่ (บอกเป็นเปอร์เซนต์ก็ได้) และมีแคลอรีเท่าไหร่จะดีมาก เพราะจะช่วยให้คนกินตัดสินใจได้ว่าจะมากน้อยแค่ไหน
จบแล้ว! ถึงตอนนี้มีใครรู้สึกงงไหมคะ อยากเน้นอีกครั้งว่ามันสำคัญมากและอยากให้ทำความเข้าใจกันก่อนที่จะไปที่สูตรกันต่อ ถ้าสงสัยถามมาได้เลยนะคะ แล้วรอพบกับขนมสำหรับคนเป็นเบาหวานสูตรที่ 1 เร็วๆนี้ค่า ^_^

 

 

Illustration credit: www.Vecteezy.com

 

adrenalinerush
About me

Deeply in love with traveling, cooking and baking. Also love to write and like to share. Join me in traveling and kitchen adventures!

YOU MIGHT ALSO LIKE

chocolate mousse
Diabetic Dessert Recipes No 3: Low Sugar Chocolate Mousse
September 02, 2018
diabetic bakery
Diabetic Dessert Recipes No 2 : Baked Ricotta cheesecake
July 02, 2018
diabetic baking
Diabetic Dessert Recipes No 1 : Almond Thin Cookies
May 05, 2018

2 Comments

FUFY
Reply May 6, 2018

มีประโยชน์มากๆ ชอบๆ

JJ
Reply September 18, 2018

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีดีนะคะ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Leave a Reply to FUFY Cancel