ไขมันในเบเกอรี ดีหรือร้ายต่อสุขภาพ


ไขมันในเบเกอรี ดีหรือร้ายต่อสุขภาพ
 
ไขมันในเบเกอรี ดีหรือร้ายต่อสุขภาพกันแน่ ไขมันเป็นส่วนประกอบหลักของเบเกอรี มีความสำคัญต่อรสชาติและเนื้อขนม (texture) มาก ไขมันที่ใช้ในเบเกอรีมีหลากหลาย ทั้งที่เป็นไขมันเลย เช่น น้ำมันพืช เนยโกโก้ (cocoa butter) เนย เนยขาว (ชอร์ตเทนนิง) มาการีน หรือวัตถุดิบที่มีไขมันสูงเช่น ครีม ถั่วต่างๆ ต้องยอมรับว่าปริมาณไขมันในเบเกอรีหลายชนิด”สูง” ถึง “สูงมาก” ทำให้เวลาพูดถึงเรื่องสุขภาพ เบเกอรีตกเป็นผู้ร้ายอยู่ร่ำไป และยังมีคำถามมากมายเกี่ยวกับไขมันทั้งที่เป็นวัตถุดิบในการทำเบเกอรี เช่น
 
เนยดีต่อสุขภาพ?

เนยและมาการีนตัวไหนแย่ต่อสุขภาพมากกว่ากัน

เบเกอรีมีไขมันทรานส์สูง?

เนยขาวมีไขมันทรานส์สูง?

non-dairy whipping cream ไม่ดีต่อสุขภาพ?

ก็คือแบบว่าได้ยินคนนู้นว่าแบบนี้ คนนี้บอกแบบนั้น ฟังๆแล้งชักสับสน ตกลงจะชื่อใครดี มีใครช่วยตอบได้ม้ายยยย
 
จริงๆแล้วเราสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ด้วยตัวเองแต่ต้องอาศัยตัวช่วยหรือเครื่องมือที่เรียกว่า “ข้อมูลโภชนาการ” และ “ส่วนประกอบสำคัญ” ซึ่งอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์นั่นเอง หลายคนสงสัยว่ามันคืออะไร ไม่เคยอ่านเลย แต่อาจจะมีอีกหลายคนบอกว่าอ่านตลอด แต่ไม่เข้าใจ มันคืออะไรบ้างไม่รู้ ดูแล้วสับสน ไม่เป็นไรค่ะวันนี้หนึ่งจะบอกวิธีการดูว่า ไขมันที่อยู่ในผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบที่เราจะนำมาใช้ทำขนม “ดี” หรือ “ร้าย” ต่อสุขภาพกันแน่ ขอบอกว่ามันไม่ยากเลยค่ะ ยิ่งถ้าทำอยู่ประจำจะยิ่งง่าย หนึ่งใช้หลักการนี้ดูไขมันในอาหารอื่นๆด้วย มันดีและมีประโยชน์มากๆ
 
ก่อนจะอ่านฉลากข้อมูลโภชนาการอย่างเข้าใจ เรามาทำความเข้าใจเรื่องของ “ไขมันในอาหาร” กันก่อน อาจจะยาวหน่อย แต่อ่านแล้วจะเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น สำหรับใครที่ขอสั้นๆ จำไปเลยได้ไหม ได้ค่ะ ข้ามมาที่นี่ได้เลย แต่ถ้าใครเป็นสายบ้าข้อมูล (เหมือนหนึ่ง) มาทำความเข้าใจเรื่องนี้ไปด้วยกัน

 

มารู้จักอาหารประเภทไขมันกันเถอะ
 
พูดถึงอาหารประเภทไขมัน หลายคนอาจจะงงว่าตกลงมัน “ดี” หรือ “ไม่ดี” กันแน่ สรุปว่าเรา “ควรกิน” หรือ “ไม่ควรกิน” สับสนเหลือเกิน วันนี้หนึ่งจะพามารู้จักและทำความเข้าใจไขมันกันแบบชัดๆ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนความคิดของหลายคนได้เลย
 
ร่างกายต้องการไขมันหรือไม่
 
ต้องการค่ะ ชีิวิตเราขาดมันไม่ได้ เพราะ ไขมันเป็นสารอาหารที่จำเป็น ย้ำว่า จำเป็น…จำเป็น…จำเป็น..จำเป็นยังไง

– เป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย
– เป็นส่วนประกอบหลักของเยื่อหุ้มเซลล์ ไม่มีไขมัน ไม่มีเรา
– ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น
– ช่วยปกป้องอวัยวะต่างๆ อวัยวะในร่างกายเราหลายอวัยวะมีไขมันห่อหุ้ม
– ช่วยดูดซึมสารอาหาร โดยเฉพาะ วิตามิน A D E K ซึ่งตัวมันเป็นไขมันและละลายได้ในไขมันเท่านั้น
– เป็นสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมน โดยเฉพาะ ฮอร์โมนเพศ
– สร้างนำดีเพื่อนำไปย่อยไขมัน

เห็นไหมคะว่าล้วนเป็นหน้าที่ที่ “จำเป็น” และ “ต้องมี” อุ้ย แบบนี้กินเยอะๆไปเลยดีไหม ไม่ดีค่ะ

เพราะ

1. ไขมันเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูงที่สุดในบรรดาสารอาหารทั้งหมด พอกินเยอะเกินที่ร่างกายต้องการ ก็อ้วนสิคะ คราวนี้ปัญหาสุขภาพต่างๆที่พ่วงกับโรคอ้วนก็มีอีกมากมาย ไขมันบางชนิดกินเกินร่างกายไม่ได้สะสมในรูปไขมันรอบเอว

2. ไขมันบางตัว เน้นว่าบางตัว ซึ่งได้แก่ ไขมันอิ่มตัว (saturated fat) และคลอเลสเตอรอล (cholesterol) ถ้ากินในปริมาณที่สูงเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคต่างๆเช่น โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันอิ่มตัวกินเยอะก็ไปกระตุ้นให้มีคลอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้อีกต่างหาห

3. ไขมันทรานส์ ที่เกิดจากขบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partial hydrogenation) แม้มีเพียงน้อยนิดก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือกและหัวใจ

“ไขมัน” จึงกลายเป็นอาหารที่จำเป็น…แต่ต้องบริโภคด้วยความระมัดระวังและกินในปริมาณที่เหมาะสม(ยกเว้นว่าคุณจะกินอาหารแบบคีโตจีนิค ที่จะต้องกินไขมันให้มากพอ แต่ต้องไปลดการกินคาร์บ)

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัย ไขมันอิ่มตัว คลอเลสเตอรอล และไขมันทรานส์ คืออะไร พบได้ในอาหารจำพวกไหนบ้าง

ไขมัน ถ้าเทียบก็เหมือน “คน” ที่มีหน้าตาต่างกัน อาชีพ ก็ต่างกัน ไขมันก็เช่นกันค่ะ มีหลายชนิด แต่ละชนิดโครงสร้างต่างกันและหน้าที่ต่างกันด้วย แม้ไขมันจะแบ่งเป็นหลายชนิดแต่ที่พบในอาหารที่เรากินกันมีแค่ 3 ชนิด คือ
1. ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride)
2. คลอเลสเตอรอล (cholesterol)
3. ฟอสโฟไลปิด (phospholipid) สำหรับตัวหลังพบในปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับสองตัวแรกและไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ขอไม่พูดถึงนะคะ
 
ไตรกลีเซอร์ไรด์(triglyceride)
 
มารู้จักไตรกลีเซอไรดืกันก่อน หลายคนอาจจะคุ้นหูโดยเฉพาะคนที่เคยเจาะเลือดตรวจไขมันในเลือดเพราะจะมีค่าไขมันชนิดนี้ด้วย ไขมันตัวนี้เป็นไขมันที่ร่่างกายจะนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน หรือเบิร์นๆๆ เมื่อมันอยู่รูปของอาหารมีทั้งของ ของเหลว (น้ำมัน) หรือของแข็ง (มันหมู)
 
– เป็นไขมันที่พบได้มากที่สุดในอาหารไขมัน คือถ้าเอาอาหารแบบไขมันล้วนมาวางตั้ง 95% หรือเกือบ 100% ที่เราเห็นนั่นคือไตรกลีเซอไรด์ ส่วนที่เหลือเล็กน้อยคือคลอเลสเตอรอล
– โครงสร้างของมันคือ มีกรดไขมัน (fatty acid) สามตัวเกาะกับ glycerol 3 ตัว เป็นที่มาของชื่อเค้า ถ้ายากไปไม่ต้องจำก็ได้ 😉
 
– หน้าที่ของไตรกลีเซอไรด์คือ เป็นแหล่งพลังงาน ร่างกายเราจะนำไปใช้เลย หรือเก็บไว้แถวรอบเอว ต้นขาเผื่อใช้ในอนาคต (ที่อาจจะไม่ได้ใช้เลย) ก็ได้แล้วแต่ความต้องการขอร่างกายและปริมาณที่กินเข้าไป ถ้ากินมากกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการตลอดก็สะสมวนไป 😉
 
– ไตรกลีเซอไรด์แบ่งย่อยออกเป็น ไขมันอิ่มตัว (saturated fat) และ ไขมันไม่อิ่มตัว (unsaterated fat) บางคนเรียก กรดไขมันอิ่มตัว กรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งก็คือสิ่งเดียวกัน

– ในอาหารตามธรรมชาติ มักจะมีทั้งไขมันไม่อิ่มตัวและอิ่มตัวผสมกัน ไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่งแบบล้วนๆนะคะ แต่ไขมันจากสัตว์มักมีไขมันอิ่มตัวสูงกว่า ในขณะที่ไขมันจากพืชมีไขมันไม่อิ่มตัวสูงกว่า
 
ไขมันอิ่มตัว (saturated fat) ชื่อนี้ได้มาจากการที่กรดไขมันอิ่มตัวด้วยไฮโดรเจน ไขมันตัวนี้จะ สถานะเป็นของแข็ง (นึกถึงมันหมู) จุดเกิดควันหรือจุดเดือดสูง ไขมันในกลุ่มนี้พบได้สูงใน ไขมันที่มาจากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม (เนย ครีม ชีส) เนื้อสัตว์ติดมัน แต่ไขมันจากพืชบางชนิดมีไขมันประเภทนี้สูงเช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ถ้ากินมากเกินไปจะไปกระตุ้นให้คลอเลสเตอรอลในเลือดสูงและเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
 
ไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fat) ชื่อมาจากการที่กรดไขมันที่มีพันธะคู่ระหว่างคาร์บอนอะตอมในโมเลกุล 1 พันธะ หรือมากกว่า พูดแล้วงง เอาเป็นว่า เป็นไขมันที่มี สถานะเป็นของเหลว (นึกถึงน้ำมันพืช) ไขมันไม่อิ่มตัวถือเป็น ไขมันดี เพราะ ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ ช่วยเพิ่มไขมันดีในเลือด แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนใหญ่พบในไขมันจากพืช เช่น อะโวคาโด น้ำมันมะกอก ถั่วเปลือกแข็ง (อัลมอนด์ เฮเซลนัท ถั่วลิสง บลาๆ ) น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว และปลาแซลมอน
 
ไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fat) แบ่งย่อยออกไปอีก เป็น กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monopolyunsaturated fat) และ กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fat) ซึ่งมีชื่อย่อยไปอีกมากมาย พูดแล้วก็งง ไม่เป็นไรค่ะ เอาเป็นว่า มันดีต่อสุขภาพถ้ากินในปริมาณที่เหมาะสม
 
ไขมันทรานส์ (trans fat) จริงๆแล้วเธอเป็น ไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นในขบวนการไฮโดรจีเนชันแบบบางส่วน #เน้นว่าบางส่วน คือการเติมไฮโดรเจนลงไปในกรดไขมันไม่อิ่มตัวเพื่อให้มันอิ่มตัว เป็นการปรับคุณสมบัติไขมันไม่อิ่มตัวที่มักเป็นของเหลวให้เป็นกึ่งของแข็ง หรือของแข็งและเพิ่มจุดเกิดควัน หรือจุดละลาย (นึกถึงเนยขาว ทำจากน้ำมันพืช) ไขมันทรานส์ที่ไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ แม้มีแค่น้อยนิด แต่พลังการทำลายล้างสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น #ต้องงด หรือ #กินให้น้อยที่สุด
 
***ไขมันทรานส์ พบใด้ในธรรมชาติได้ในปริมาณน้อยๆ มักพบในเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ปัจจุบันยังไม่มีกาาศึกษายืนยันว่าไขมันทรานส์ที่พบในธรรมชาติจะเกิดผลเสียต่อร่างกายเหมือนไขมันทรานส์ที่เกิดในขบวนการไฮโดรจีเนชันแบบบางส่วน บางการศึกษาบอกว่าไม่ร้ายเท่า****
 
***สำหรับไตรกลีเซอร์ไรด์ ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน อิ่มตัว ไม่อิ่มตัว หรือแม้แต่ไขมันทรานส์ ให้พลังงานเท่ากันหมดคือ 1 กรัมให้พลังงาน 9 แคลอรี***
 
***ร่างกายเราสามารถนำน้ำตาล (glucose) มาเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์และเก็บในรูปไขมันรอบเอวได้ ดังนั้น กินคาร์บเยอะเกินไปก็มีไขมันรอบเอวเพิ่มได้นะคะ***
 
คลอเลสเตอรอล
 
– พบในอาหารไขมันในปริมาณน้อยกว่าไตรกลีเซอไรด์มาก และจะพบได้ในสัตว์เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ไขมันจากพืชทุกชนิดปลอดคลอเลสเตอรอล
 
– ร่างกายเราไม่ใช้ คลอเลสเตอรอล เป็นแหล่งพลังงาน แต่จะนำไปใช้ทำหน้าที่อื่นๆ เช่น เป็นส่วนประกอบของผนังเยื่อหุ้มเซลล์เป็นสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมน โดยเฉพาะ ฮอร์โมนเพศ และนำไปสร้างน้ำดี เพื่อนำกลับมาย่อยไขมันที่เราจะกินเข้าไปอีก ดังนั้น กินคลอเลสเตอรอลอย่างเดียวไม่ทำให้อ้วน แต่คลอเลสเตอรอลที่สูงเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ
 
– อาหารที่มีคลอเลสเตอรอลสูงคือ ไขมันสัตว์ทุกชนิด ผลิตภัณฑ์นม (นม เนย ชีส ครีม) และอาหารทะเลบางชนิดโดยเฉพาะปลาหมึก
 
ถึงตรงนี้งงไหมคะ มาดูรูปแบบสรุปอาจจะเข้าใจง่ายขึ้น
 

 
อ่านมายืดยาว #สรุปได้ดังนี้ค่ะ

* ไขมันอิ่มตัว (เป็นไตรกลีเซอไรด์) – กินได้ แต่กินให้น้อยดีกว่า

* ไขมันไม่อิ่มตัว (เป็นไตรกลีเซอไรด์) -ไม่ว่าจะเป็น กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monopolyunsaturated fat) และ กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fat) เป็นไขมันดี กินให้มาก แต่อย่าเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ

* ไขมันทรานส์ (เป็นไขมันไม่อิ่มตัว) ตัวร้ายคือที่ไม่ได้เกิดเองในธรรมชาติ กินให้น้อยที่สุด หรือไม่กินดีที่สุด

* คลอเลสเตอรอล กินได้แต่ไม่ควรเยอะ
 
เราควรกินไขมันปริมาณเท่าไหร่
 
อาหารไขมันที่บอกว่า “กินในปริมาณที่เหมาะสม” น่ะ มันเท่าไหร่ หนึ่งมีตัวเลขมาให้ อ้างอิงตามที่แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ บอกว่าถ้าต้องการพลังงาน 2,000 แคลอรีต่อวัน ควรกินไขมันได้ตามนี้

ไขมันรวมไม่เกิน 30% ของพลังงานที่รับทั้งหมด หรือ 65 กรัม/วัน
ไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 10% หรือ 20 กรัมต่อวัน
คลอเลสเตอรอลน้อยกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน

แต่ American Heart Association หรือ AHA กำหนดว่า

ไขมันรวม ไม่เกิน 25-35% ต่อวัน หรือประมาณ 56-78 กรัมต่อวัน
ไขมันอิ่มตัว 5-6% หรือ 13 กรัมต่อวัน
ไขมันทรานส์ น้อยที่สุดคือน้อยกว่า 1% หรือไม่มีเลย หรือน้อยกว่า 2 กรัม
คลอเลสเตอรอลน้อยกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน
คลอเลสเตอรอลน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับคนที่เป็นโรคหลอดเลืดและหัวใจ หรือมีไขมันในเลือดชนิด LDL > 100 mg/dl

ใครอยากใช้อันไหนก็ได้ค่ะ แต่ของ AHA จะเข้มงวดกับไขมันอิ่มตัวมากกว่า
 
ในความเป็นจริงแต่ละคนต้องการพลังงานต่างกัน อาจมากกว่าหรือน้อยกว่า 2,000 แคลอรี ใครอยากให้เป๊ะ คำนวณเองได้ที่นี่ ง่ายๆ แค่กรอกข้อมูล เมื่อรู้พลังงานที่เราใช้ในแต่ละวันก็พอรู้แล้วว่าเราควรกินให้มากหรือน้อยกว่าที่กำหนด
 
พอเข้าใจตรงนี้แล้ว กลับไปอ่านข้อมูลโภชนาการปุ้บ เราจะเข้าใจได้เลย หนึ่งยกตัวอย่างมาให้
 

ตัวอย่างแรก วิปปิ้งครีมที่หนึ่งใช้อยู่ เป็นครีมแท้ คือ dairy whipping cream ดูได้จากส่วนประกอบสำคัยที่เป็นครีม 99%
ลองมาดู ข็อมูลโภชนาการ ถ้ากิน 15 ml ( 1 ชต )ให้พลังงาน 50 แคลอรี ได้ไขมันไปทั้งหมด 5.3 กรัมและเป็นไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นไขมันจากสัตว์ ปกติเวลาเรากินเค้กหรือขนมที่มีวิปปิ้งครีมเราจะกินเฉลี่ยประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ
จะเห็นว่า ไขมันทรานส์ ไขมันทรานส์ตัวนี้เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังไม่มีใครยืนยันว่ามันอะไรเหมือนไขมันทรานส์มนุษย์สร้างขึ้นในขบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ครีมแท้กินได้ด้วยความระมัดระวัง
 


 
ตัวอย่างที่ 2 วิปปิ้งครีมแบบผสม คือมีทั้งไขมันเนย (บัตเตอร์มิลค์) และน้ำมันปาล์มทั้งแบบเติมไฮโดรเจนบางส่วนและแบบน้ำมันเลย ถ้าสังเกตจะเห็นว่าครีมตัวนี้ให้พลังงานน้อยกว่าครีมแท้รูปบนนิดหน่อย แต่ไขมันยังสูงไม่ต่างกันและยังเป็นไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนใหญ่เหมือนกันด้วย เพราะในส่วนผสมมีมันเนยเยอะปริมาณสูงสารอาหารเลยคล้ายครีมแท้ **ต้องกินด้วยความระวัง*** และที่ต้องระวังอีกอย่างคือ น้ำมันปาล์มงแบบเติมไฮโดรเจนบางส่วนทีมี 30% ของไขมันทั้งหมดอาจมีไขมันทรานส์ผสมมาด้วย แต่ปริมาณเท่าไหร่ไม่รู้เพราะระบุในในข้อมูลโภชนาการนอกจากนี้ยังไม่มีข้อมูลคลอเลสเตอรอลด้วย มีมันเนยสูงขนาดนี้ต้องมีคลอเลสเตอรอลด้วยอยู่แล้ว ถ้าเป็นหนึ่ง หนึ่งไม่ซื้อมาใช้เอง
 

 
ตัวอย่างที่ 3 มาดูน้ำมันพืชกันบ้าง อย่างที่บอกไปแล้วนะคะ ไขมันจากพืชจะปราศจากคลอเลสเตอรอลและมีไขมันไม่อิ่มตัวสูงกว่าไขมันอิ่มตัว จะเห็นว่าแค่ 15 ml หรือ 1 ชต ให้พลังงาน 130 แคลอรี ซึ่งสูงมาก (เทียบครีมแท้ในรูปแรก ที่ 15 ml ให้พลังงานแค่ 50 แคลอรี ที่เป็นเช่นนี้เพราะน้ำมันเป็นไขมัน 100% ที่เราเห็นอยู่นี่เป็นไตรกลีเซอไรด์ 100% เลยล่ะ ไขมันตัวนี้ **กินแล้วดี แต่อย่ากินมากเกินไป**
 

 
ตัวอย่างที่ 4 เนยขาว หรือ shortening ยี่ห้อหนึ่ง ยกมาให้ดูเพื่อที่จะได้เห็นว่า เนยขาวทุกตัว ไม่ได้ร้าย และแย่ต่อสุขภาพหมด เนยขาวตัวนี้ ไม่มีไขมันทรานส์ และมีไขมันไม่อิ่มตัวสูงกว่าไขมันอิ่มตัว ในแง่ของสุขภาพอย่างเดียวไม่คำนึงถึงรสชาติ ถือว่าดีกว่าเนยแท้เลยล่ะ
 

 
ใครที่อ่านมาจนถึงตอนนี้จะเห็นว่าเราไม่สามารถจำไปเลยว่าเนยขาวไม่ดี ครีมแท้ดี ครีมเทียมไม่ดี เนยขาวมีไขมันทรานส์สูงเพราะแต่ละอย่างล้วนมีไขมันชนิดที่ต้องระวัง ไขมันที่เราต้องระวังไม่ได้มีแต่ไขมันทรานส์เท่านั้น ยังมีไขมันไม่อิ่มตัว และคลอเลสเตอรอลด้วย นอกจากนี้ต้องคอยระวังปริมาณไขมันรวมที่เราจะกินต่อวัน เพราะไม่ว่าจะเป็นไขมันดีหรือไม่ดีก็ทำให้อ้วนได้
 
ลองกลับไปอ่านฉลาก ดูส่วนผสมสำคัญ และ ข้อมูลโภชนาการ ดูนะคะ ว่า ไขมันที่เราใช้ทำขนมนั้น มีไขมันอิ่มตัว และคลอเลสเตอรอลสูงแค่ไหน มีไขมันทรานส์หรือเปล่า และเราควรกินในปริมาณ เท่าไหร่ ถึงจะไม่เกินจนเกิดปัญหา

 
***สงวนลิขสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้นำรูปภาพหรือข้อความใดๆไปใช้ก่อนได้รับอนุญาต หากคุณคิดว่าเนื้อหามีประโยชน์กรุณากดปุ่ม ” share” ท้ายบล็อกหรือ redirect link มาที่เพจนี้***

adrenalinerush
About me

Deeply in love with traveling, cooking and baking. Also love to write and like to share. Join me in traveling and kitchen adventures!

1 Comments

FUFY
Reply June 12, 2018

ละเอียดมากๆ วิชาการแน่นๆ สุดยอด

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Leave a Reply to FUFY Cancel